ชวนให้แปลกใจอยู่ไม่น้อยเมื่อรู้ว่าผู้ชนะรางวัล สาขา Entrepreneurial Award หรือ ผู้ประกอบการยอดเยี่ยม ของ UK Alumni Awards ในปีนี้เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีนวัตกรรมอะไรของไทยที่สามารถขายได้จนสมควรได้รางวัลนี้เหรอ? ดร.ธีระพงศ์ ยะทา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ด้วยผลงานวิจัยที่ยื่นจดสิทธิบัตรจำนวนหลายรายการ ซึ่งรวมไปถึงผลงานไฮไลท์ “นาโนวัคซีนสำหรับปลา” เพื่อให้ปลาเศรษฐกิจต่าง ๆ ของไทยห่างจากโรค ส่งผลดีต่อการเกษตรไทยอย่างมหาศาล ไปทำความรู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีหัวใจของผู้ประกอบการคนนี้ให้มากขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์นี้กัน
Q: เห็นว่าเรียนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มา เส้นทางหลังจากเรียนจบเป็นอย่างไรถึงได้กลายมาเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ
A: หลังจากกลับมาไทย เราเจอว่าประเทศเรามีสมุนไพรหลากชนิดมาก เราเลยลองเอาวิธีทำวิจัยแบบเดียวกับที่เรียนมาประยุกต์ใช้กับของพื้นบ้านในประเทศ ใส่นวัตกรรมบางอย่างเข้าไปให้มันล้ำขึ้น สิ่งที่เราทำตอนนี้ก็เป็นแนวนี้หมดเลย อย่างตอนนี้ก็ผลิตวัคซีนปลากับทีมสัตวแพทย์ จุฬาฯ หลังจากพบปัญหาว่าคนทำฟาร์มปลาต้องนั่งฉีดวัคซีนทีละตัว ฟาร์มไหนที่มี 10,000 ตัวนี่ไม่ไหวแน่ เวลามีโรคระบาด เขาก็จะไม่ทำอะไร ยอมรับความเสียหาย สิ่งที่เราทำคือนาโนวัคซีนแบบแช่ นวัตกรรมที่ให้วัคซีนได้ทีละหลาย ๆ ตัวในระยะเวลาอันสั้น
Q: แปลว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เราได้ศึกษาจาก UK ก็เอามาใช้กับไทยได้
A: ใช่ เพราะตอนเรียนที่ UK มันเป็น project base เน้นศึกษาวิธีการ พอกลับมาไทยเราก็ใช้วิธีการเดิม เพียงแค่เปลี่ยนโจทย์ใหม่ สมัยเรียนเราเคยใช้ไวรัสนำส่งยีนเข้าไปในร่างกายเพื่อรักษาโรค ดู advance มากเลย เราก็เลยลองประยุกต์เปลี่ยนระบบนำส่งสิ่งที่ advance มาใช้กับสมุนไพรที่บ้านเรามี
Q: จากที่ฟังการเรียนปริญญาโทและเอกที่นั่นเน้นทำโปรเจกต์ ทำวิจัย แล้วเราได้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ตอนไหน
A: จริง ๆ การเรียนการสอนครอบคลุมมาก มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา วิศวกรรม และอื่น ๆ ทำให้เราเห็นภาพทั้งหมดว่าจะเอาของออกไปขายได้อย่างไร ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่มีทักษะในด้านนี้อยู่บ้างแล้ว ทำให้เราไปได้ค่อนข้างเร็ว ต้องบอกว่าตอนได้ทุนรัฐบาลไปเรียน เขามองตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องส่งเราไปเรียนที่ Imperial College London เพราะมีอาจารย์ที่มีชื่อสุดระดับแนวหน้าของประเทศที่ตรงกับสาขาที่เราเรียน
"เมื่อก่อนเราอาจจะหวังถึงผลงานวิชาการได้ตีพิมพ์ แต่สุดท้ายพอทำมาได้จุดหนึ่ง เราจะภูมิใจมากกว่าถ้าสิ่งที่เราทำไปออกไปสู่สังคมแล้วใช้ได้จริง ไม่ขึ้นหิ้ง จนถึงขั้นเป็นของจากคนไทยที่ส่งออกไปนอกประเทศ"
Q: นอกจากความรู้วิชาการแล้ว มีอะไรอีกไหมที่เราได้เรียนรู้จาก UK
A: เรื่องระบบการเรียนการสอน คือแม้เราจะเป็นนักศึกษา แต่อาจารย์เขามองเราเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ไม่ได้มองเราเป็นลูกศิษย์ เราทำงานด้วยกันเลย ทำให้เราประทับใจมาก ตอนนี้เรายังเอาวิธีคิดนี้มาใช้ทำงานกับน้อง ๆ ที่ทำงาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาษาและทักษะการอยู่รอด พอไปที่นั่นเราจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษตลอด วันดีคืนดีโดนปล้นต้องไปเล่าเรื่องที่สถานีตำรวจ สถานการณ์ทุกอย่างมันทำให้เราพัฒนาทักษะพวกนี้ และทำให้เรามั่นใจมากขึ้น
Q: แล้วเรื่องการปรับตัวยากไหม
A: เราใช้ธรรมชาติของความเป็นคนไทยทำให้คนในทีมรักเราได้นะ คือมีความนอบน้อม แต่พออยู่ไปเรื่อย ๆ เขาก็จะบอกเราว่าไม่ต้องขนาดนั้น มีอะไรพูดตรง ๆ กันได้เลย
Q: สุดท้ายนี้ อะไรคือเป้าหมายสูงสุดของการเป็นผู้ประกอบการ
A: เมื่อก่อนเราอาจจะหวังถึงผลงานวิชาการได้ตีพิมพ์ แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง เราจะภูมิใจมากกว่าถ้าสิ่งที่เราทำไปออกไปสู่สังคมแล้วใช้ได้จริง ไม่ขึ้นหิ้ง จนถึงขั้นเป็นผลิตภัณฑ์จากฝีมือคนไทยที่ส่งออกไปนอกประเทศได้