ใครจะคิดว่า ‘วุ้นมะพร้าว’ ของหวานแสนอร่อยที่คนไทยเราคุ้นเคยกัน จะสามารถเปลี่ยนรูปจนกลายเป็นโฟมคาร์บอนที่มีความสามารถในการดูดคราบน้ำมันจากแหล่งน้ำเสียได้ และนี่คือความรู้ใหม่ ๆ ที่เราได้เรียนรู้จาก รศ.ดร.สุปรีดิ์ พินิจสุนทร หรือ อาจารย์ดิว ผู้ที่นอกจากจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นนักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ และแชมป์นักสื่อสารวิทยาศาสตร์คนล่าสุดของประเทศไทย จากเวที FameLab Thailand 2020 พร้อมกับทุน Research Award เพื่อต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้

ปัญหาคราบน้ำมันในประเทศไทยมีมากขนาดไหน

ปัญหาคราบน้ำมันของไทยเป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะในทะเลก็มี ในแม่น้ำ ในแหล่งน้ำธรรมชาติ จากโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม ร้านอาหาร ที่หาดูได้ง่าย ๆ เลยคือจากครัวเรือนที่อยู่ริมน้ำ เวลาล้างจานหรือว่าทำกับข้าวเสร็จ เขาก็เทลงแหล่งน้ำธรรมดา ส่งผลต่อชีวิตของสัตว์น้ำรวมถึงคนที่จะเอาแหล่งน้ำธรรมชาติไปใช้งานต่อ 

ทำไมสนใจเรื่องนี้

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ปัญหาคราบน้ำมันที่รั่วไหลมันเป็นปัญหาใหญ่มากของโลก ทุกปีมันจะมีน้ำมันไหลสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเยอะมาก และวิธีกำจัดในปัจจุบันเขาก็มีวิธี เช่น เผา ถ้ามีคราบน้ำมันอยู่บนผิวน้ำก็เผาเลย ก็อาจจะเปลี่ยนมลพิษทางน้ำเป็นมลพิษทางอากาศแทน เราก็เลยอยากหาวิธีที่มันจะดีกว่านี้อย่างใช้วัสดุดูดซับ แต่ปกติวัสดุดูดซับทั่ว ๆ ไปอาจจะยังไม่ดีพอ เช่น กระดาษ กระดาษจะซับทั้งน้ำและน้ำมัน แล้วมันก็จะเปื่อยยุ่ย หรือพวกฟองน้ำก็เหมือนกัน ก็ดูดซับทั้งน้ำและน้ำมัน ก็เลยจะต้องหาวัสดุที่มันซับเฉพาะน้ำมัน จากงานวิจัยที่ผ่าน ๆ มาก็พบว่าคาร์บอนเนี่ยดูดน้ำมันได้ดีมากและไม่ดูดน้ำ คราวนี้ถ้าอยากให้มันดูดน้ำมันเยอะ ๆ เนี่ย จะต้องเพิ่มพื้นที่ผิวมัน ให้มันเจอกับน้ำมันเยอะ ๆ ซึ่งการจะทำให้วัสดุมีพื้นที่ผิวเยอะ ก็คือมีโครงสร้างเป็นแบบนาโน คือข้างในจะเป็นเหมือนโฟม เหมือนมีโพรงอากาศเล็ก ๆ อยู่เต็มไปหมด ยิ่งเล็กเท่าไหร่ก็ยิ่งดูดน้ำมันได้ดี

แล้วแบบนี้งานวิจัยของอาจารย์ดิวแตกต่างงานวิจัยคาร์บอนดูดซับน้ำมันของคนอื่นอย่างไร

งานวิจัยเรื่องนี้ผมก็ไม่ใช่คนแรกในโลกแน่ ๆ ก็มีแล็บทั่วโลกแข่งกันทำเยอะแยะ เราสามารถหาคาร์บอนได้หลายแหล่ง วัสดุทุกชนิดถ้าเอาไปเผาจะเป็นคาร์บอนอยู่แล้ว ความแตกต่างคือของผมเริ่มใช้เป็นแบคทีเรียเซลลูโลสหรือวุ้นมะพร้าว ที่ใช้วุ้นมะพร้าวเพราะว่าสมมติในอนาคตเราอยากทำให้มันสเกลใหญ่ขึ้น วุ้นมะพร้าวสามารถผลิตได้ในประเทศไทยในปริมาณที่เยอะ และตัววุ้นเองเป็นเส้นใยระดับนาโนโดยธรรมชาติ ถ้าถามว่าใช้ได้หรือยัง ทั่วโลกยังไม่มีใครที่ใช้ได้จริง ๆ ส่วนมากทำแข่งกันในแล็บสเกล อนาคตผมก็อยากจะขยายกำลังผลิตให้มากขึ้น แล้วใช้กับแหล่งน้ำจริง ๆ ให้ได้

ย้อนกลับมาที่โครงการ FameLab ทำไมถึงตัดสินใจเข้าร่วมแข่งขันกับเรา

ผมเห็นโครงการเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เห็นคลิปตอนไปโฆษณาที่ขอนแก่น แล้วเขาเปิดคลิปเก่า ๆ ให้ดู เอาตรง ๆ คือตอนนั้นรู้สึกว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่า แต่ที่ตอนนั้นยังไม่เข้าร่วมไม่ใช่เพราะเหตุผลแต่เป็นข้ออ้างมากกว่า บางทีถ้ายังเด็ก ๆ จะมีความกล้าในการเข้าแข่งมาแข่งขัน พอเป็นอาจารย์แล้ว โอ้โห ถ้าเราพูดไม่รู้เรื่อง มันอายเด็ก ๆ ที่เราสอน แต่ปีนี้ผมก็อยากลองดูซักตั้ง คราวนี้ก็เลยลองแบบไม่มีข้ออ้าง พอเราตัดสินใจแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด ใครจะว่าอะไรก็ไม่ใช่เรื่องของเราแล้วครับ 

แล้วพอได้มาแข่งจริงรู้สึกอย่างไร

พอมาออดิชั่นรอบแรก โอ้โห! มันยากมากเลย พูดแค่ 3 นาทีแต่ซ้อม 3 วันยังไม่พอเลย เรียบเรียงเนื้อหาก็ยาก ปกติเราเขียนอะไรก็ตาม มันจะไม่จำกัดว่าต้องสั้นแค่นี้ การเขียนสั้น ๆ แบบมีประเด็นให้ครบมันยากกว่าเขียนยาว ๆ บรรยายไปเรื่อย ๆ อย่างรอบแรกที่เป็นคลิป ผมยังไม่ค่อยรู้เทคนิคการสื่อสาร ก็จะเขียนยาวแล้วพูดเร็ว ๆ เอา ซึ่งเหนื่อยมาก รวมถึงที่ต้องพูดกับกล้อง ก็ค่อนข้างยากเพราะไม่คุ้นเคย ให้มาพูดแบบที่มีคนฟังยังง่ายกว่า แต่ก็จะตื่นเต้นคนละแบบ

หลังจากเข้าร่วมมองว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์สำคัญไหม

สำคัญมาก ปัจจุบันกำลังทำวิจัยอยู่ ต้องขอทุนวิจัย ทุนวิจัยส่วนใหญ่จะมาจากผู้กำหนดนโยบายประเทศ เราก็ต้องพูดให้เขาเข้าใจว่า ทำไมเรื่องนี้มันสำคัญ ทำไมต้องให้ทุนเรา อย่างเรื่องคราบน้ำมัน เราต้องพูดให้คนทั่วไปเข้าใจเพราะบางทีคนอาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก มันนิดเดียวไม่เห็นเป็นไรเลย แต่ว่านิดเดียวของล้านคนก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสิ่งแวดล้อมได้

"บางทีคนอาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก มันนิดเดียวไม่เห็นเป็นไรเลย แต่ว่านิดเดียวของล้านคนก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสิ่งแวดล้อมได้"

สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับโครงการ FameLab สามารถดูข้อมูลได้ที่ www.britishcouncil.or.th/famelab