ความสนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมของผู้คนอาจจะมีมานานหลายปีแล้ว แต่กระแสการลงมือทำเพื่อช่วยกันลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริง ๆ จัง ๆ อาจจะเพิ่งชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้ การลดใข้พลาสติกแล้วหันมาใช้ถุงผ้าตามห้างร้านคือตัวอย่างที่ชัดเจน แต่รู้ไหมว่ามีคนบางกลุ่มที่กำลังคิดการใหญ่กว่านั้น คุณสิตตา มารัตนชัย หนึ่งในศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น ประจำปี 2563 สาขา Social Impact ได้ก่อตั้ง Hackathon แห่งหนึ่งขึ้นที่รวมเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น มาระดมไอเดียสร้างผลงานเพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมของเราในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลก 

Q: ความสนใจการแก้ปัญหามลภาวะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของคุณสิตตา เริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน

A: ย้อนไปตั้งแต่เรียนอยู่ที่ลอนดอนเลยค่ะ ชีวิตเราตอนนั้นแวดล้อมไปด้วยข่าวและกิจกรรมเกี่ยวกับนวัตกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติ สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะเลิกใช้ถ่านหิน เลิกทำนิวเคลียร์ แล้วมาทำกังหันลมในทะเลแทน นี่เป็นข่าวดังมากเลยนะ เรายังได้เข้าร่วมกิจกรรม Hackathon หนึ่งที่ต้องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและมลภาวะทางอากาศของกรุงลอนดอน รวมถึงงานสัมมนานโยบายพลังงานและนโยบายคาร์บอนที่จัดขึ้นที่อาคารสำนักงานรัฐสภาของอังกฤษ รอบตัวเราเต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง ที่มีจุดประสงค์เดียวกันในการหาทางออก สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกมีหวังและจุดประกายความอยากมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของเรา

Q: Hackathon ที่คุณสิตตาก่อตั้งมีความคลายคลึงกับตอนที่คุณสิตตาเข้าร่วมที่ UK หรือเปล่า ช่วยอธิบายให้เราฟังเพิ่มเติมหน่อย

A: เราเอาความรู้จากที่เคยเป็นผู้เข้าร่วมมาต่อยอดและประยุกต์ให้เข้ากับปัญหาในไทยค่ะ เราตั้งชื่อว่า SMOGATHON และเลือกเป็นปัญหาฝุ่นควันที่ภาคเหนือ เราพาคนรุ่นใหม่จากต่างสถาบันแต่คิดแบบเดียวกันมาพบกัน แล้วระดมสมอง สร้างนวัตกรรมด้วย Design Thinking ที่สำคัญคือคำนึงถึงพฤติกรรมของมนุษย์เป็นหลัก 

Q: ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้าง

A: เราพอจะเห็นได้บ้างว่าการขับเคลื่อนต่าง ๆ ของภาคประชาชนในการแก้ปัญหาเปลี่ยนไปค่ะ คือ ไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐมาจัดการเพียงฝ่ายเดียว เราได้ไอเดียจากน้อง ๆ ซึ่งความหลากหลายและเป็นรูปเป็นร่าง รวมแล้ว 12 ทีม

Q: แล้วเรามีวิธีสนับสนุนเยาวชน คนรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างไรบ้าง

A: ใน 2 ปีที่ผ่านมา หน้าที่ของเราคือเป็นคนแนะนำ ชี้ให้เขาเห็นวิธีเข้าถึงแหล่งข้อมูลและเครื่องมือต่าง ๆ มีหลายที่ที่เปิดให้เข้าใช้ได้ เช่น แผนที่ดาวเทียมของ NASA รวมถึงแนะนำวิธีเข้าถึงแหล่งเงินทุน อันนี้ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะเด็ก ๆ อาจจะไม่ค่อยรู้ว่าจะเริ่มต้นเขียนไปขอเงินทุนอย่างไร ทำให้เห็นปัญหาที่ซ้อนในปัญหาอีกที ซึ่งบางเรื่องก็เกินกำลังของคนตัวเล็ก ๆ เพียงคนเดียว การทำงานเป็นทีมเลยสำคัญ

"เห็นปัญหาที่ซ้อนในปัญหาอีกที
ซึ่งบางเรื่องก็เกินกำลังของคนตัวเล็ก ๆ เพียงคนเดียว การทำงานเป็นทีมเลยสำคัญ"

Q: นอกจากประเด็นสิ่งแวดล้อมแล้ว ได้ยินมาว่าช่วงนี้คุณสิตตายังได้ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย

A: เราได้ทำเว็บไซต์ www.thaicovid.co ขึ้นมา ซึ่งสาเหตุเกิดจากกลุ่ม Line ครอบครัว หลายคนอาจจะพอนึกออก คือมีการแชร์ข่าวเท็จกันทุกวัน มีคำแนะนำการรับมือแบบแปลก ๆ ที่เราอ่านแล้วไม่สบายใจ แล้วทุกครั้งเราก็ต้องไปค้นหาข้อมูลมาเพื่อแก้ข่าว สุดท้ายเลยตัดสินใจทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อรวมข้อมูลเฉพาะที่จำเป็นต้องรู้ โดยไม่ใส่ความเป็นข่าวหรือดราม่าเข้าไป ถ้าอยากจะรู้อะไรก็ ‘ไทยโควิด’ ไว้ก่อนเลยค่ะ อัพเดทตลอด (หัวเราะ)

Q: สุดท้าย มีอะไรอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมไหม ไม่ใช่แค่เฉพาะสิ่งแวดล้อมก็ได้

A: อยากให้กล้าที่จะลองผิด ลองถูก ลองทำค่ะ กล้าที่จะลองยื่นมือเข้าไปช่วยผู้อื่น กล้าที่จะพูดปัญหาออกมา กล้าที่จะสนับสนุนคนที่ทำดี แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตที่ตัวเองไม่บอบช้ำด้วยนะคะ เราไม่จำเป็นต้องรีบประสบความสำเร็จก็ได้ค่ะ ค่อย ๆ เรียนรู้ไป

Credit ภาพ: Smogathon Thailand 2020