4 คอลเลคชั่นและเรื่องราวที่สวยงามของงานคราฟท์แห่งอนาคตจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้
“วานีตา” คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมของสตรีผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รวมตัวกันเพื่อผลิตผลงานหัตถกรรมจักสาน และสินค้าที่แปรรูปจากผ้าปาเต๊ะ ในระยะหนึ่งปีกว่าๆของการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนวานีตา ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใช้งานคราฟท์เยียวยาจิตใจพร้อมกับการสร้างรายได้ให้ชุมชนและส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำในครอบครัว
วันนี้ของวานีตาได้ก้าวข้ามผ่านดราม่าและมาพร้อมกับสตอรี่ที่แข็งแกร่งและตัวตนที่ชัดเจนของ 4 ชุมชนที่เข้าร่วมอบรมตลอด 10 เดือนในโครงการคราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์ แม่ๆได้พลิกมุมมองที่เราเคยมีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านงานคราฟท์ที่เริ่มทำเป็นคอลเลคชั่นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชน แม่ๆเปลี่ยนวิธีการสานและงานคราฟท์แบบดั้งเดิม สู่การออกแบบคอลเลคชั่นที่เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของแต่ละชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความชัดเจนผ่าน งานฝีมือที่ละเอียด ฟังค์ชั่รวมถึงการดีไซน์ที่เข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย
“เราเริ่มอบรมกับบริติช เคานซิลประมาณมกราคม โดยไม่แน่ใจเลยว่ารูปแบบการอบรมจะเป็นยังไง ทางบริติช เคานซิลให้เรานำเสนอมาก่อน 4 กลุ่มสำหรับการอบรม เราเลยเสนอย่านลิเภา กระจูด เตยปาหนัน และไม้ไผ่ซึ่งมีความแตกต่างทั้ง 4 รูปแบบ เรากับชาวบ้านคิดว่าน่าจะมีดีไซน์เนอร์มาออกแบบแล้วให้เราสานตามแบบทั่วไป พอไปอบรมกับทีมของบริติช เคานซิลและ Patapian มันไม่ใช่แบบที่เราคิดไว้ แต่คือการเอาแบบให้เราวิเคราะห์ วิจารณ์ว่าสิ่งที่เราเห็น อะไรที่เราผูกพันธ์เราก็จดเป็นตัวอักษร เราก็เห็นนะว่าชาวบ้านทำจริงๆ จดจริงๆ ลองทำรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยทำ ชิ้นงานทั้ง 4 คอลเลคชั่นเกิดจากชาวบ้านที่เปลี่ยนวิธีคิดและแหกทุกกฏที่เค้าเคยทำมา” อามีเนาะห์ หะยิมะแซ ประธานวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตากล่าว
วานีตาได้เปิดตัว 4 คอลเลคชั่นใหม่พร้อมกับสตอรี่ที่แข็งแรงของแต่ละชุมชนในงานเชียงใหม่ดีไซน์วีค 2019 เป็นที่แรก
คอลเลคชั่นงานจักสานกระจูด จากชุมชนบ้านโคกพยอม จ.นราธิวาส สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชนได้แก่ ดอกพะยอมและเรือกอและ บองเล่าถึงวีถีชีวิตของชาวบ้านที่หาปลาตอนกลางคืนสะท้อนออกมาเป็นสีน้ำเงินเข้ม และสีเหลืองที่แทนแสงไฟยามค่ำคืน
คอลเลคชั่นงานจักสานไม้ไผ่ จากชุมชนบ้านทุ่ง จ.ปัตตานี เกิดจากการนำลายมองยงและลายยี่หร่าซึ่งปกติใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องครัวในการทำน้ำตาลโตนด โดยชาวบ้านได้นำลายทั้งสองมาเป็นคอลเลคชั่นเครื่องครัวที่ตนเองผูกพันธ์กับการทำอาหาร
คอลเลคชั่นงานจักสานเตยปาหนัน จากชุมชนปูลากาป๊ะ จ.นราธิวาส ทเกิดจากความผูกพันธ์กับทะเลทั้งครอบครัว จนกลายเป็นคอลเลคชั่นชายหาดสำหรับคนที่รักทะเลเหมือนๆกัน ซึ่งมีทั้งเสื้อ กระเป๋า ซองใส่แว่นกันแดด กระติกน้ำ ในสีฟ้าเขียวน้ำทะเล
คอลเลคชั่นงานจักสานย่านลิเภา จากชุมชนบ้านดาฮง จ.นราธิวาส เกิดจากชื่อหมู่บ้าน “ดาฮง” ที่แปลว่าใบไม้ จากกระเป๋าที่คุ้นเคยชาวบ้านได้เปลี่ยนรูปแบบดีไซน์ที่ไม่เคยทำมาก่อนเป็นเป็นเครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นใบไม้เพื่อบอกเล่าถึงบ้านที่พวกเขาผูกพันธ์
การเห็นผลิตภัณฑ์ของวานีตาในวันนี้สะท้อนให้เราเห็นมากกว่าความหวัง แต่ทำให้เราเห็นถึงพลังของผู้นำและการรวมตัวของแม่ๆที่ก้าวข้ามเหตุการณ์ดราม่า และใช้แรงบันดาลใจรอบๆตัวของพวกเขาเปลี่ยนมุมมองของผู้คนผ่านงานคราฟท์ทั้ง 4 คอลเลคชั่น และ 4 เรื่องราวที่จะทำให้เรารู้จักบ้านและชุมชนของเขามากยิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการคราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์ https://www.britishcouncil.or.th/programmes/arts/crafting-futures/wanita