ปัจจุบันมีคนใช้ภาษาอังกฤษหรือกำลังเรียนภาษาอังกฤษกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก และทักษะภาษาเป็นหนึ่งในซอฟต์สกิลที่สำคัญที่สุดของเยาวชนในอาเซียน โดยประเทศไทยยังคงมีอุปสรรค ด้านภาษาอังกฤษอันเกิดจากความ ไม่เท่าเทียม ทักษะภาษาของครูผู้สอน วิธีการสอน และวิธีการวัดผล
คำกล่าวข้างต้นเป็นการสะท้อนปัญหาด้านภาษาอังกฤษของประเทศไทยของ "บริติช เคานซิล ประเทศไทย" ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านการศึกษาในประเทศไทยตั้งแต่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงอุดมศึกษา ไม่ว่า จะเป็นการอบรมครูภาษาอังกฤษ หรือกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาด้านภาษาอังกฤษของไทยเกิดจาก 4 ประเด็น คือ 1.ค่าเฉลี่ยทักษะภาษาอังกฤษของครูภาษาอังกฤษระดับชั้นประถม-มัธยมศึกษามากกว่า 75% อยู่ในระดับ A2 หรือต่ำกว่าพื้นฐาน 2.ปัญหาทักษะภาษาอังกฤษในภาพรวมของประเทศไทยสะท้อนอยู่ในปัญหาความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย 3.การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ส่วนมากยังใช้การเรียนการสอนแบบยึดตามหลักไวยากรณ์ การแปล และท่องจำมากกว่าสื่อสารได้ในชีวิตจริง และ 4.ระบบการวัดผลทักษะภาษายังคงมุ่งเน้นไปที่การใช้ภาษาอังกฤษตามหลักไวยากรณ์ การอ่าน ซึ่งล้วนแต่ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
ดังนั้นทิศทางการทำงานของบริติช เคานซิล ในปี 2563 จะเน้นการพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างรอบด้านในทุกระดับ ตั้งแต่เรียนการสอนไปจนถึงการสอบ ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล โดยได้หารือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาศักยภาพครูและการสอนภาษาอังกฤษระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัยที่ผลิตครู พร้อมกับการขยายเครือข่ายโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (partner schools) การพัฒนาและขยายบริการด้านการสอบเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้สอบมากยิ่งขึ้น
รวมถึงเปิดตัวหลักสูตรปรับปรุงใหม่ของส่วนโรงเรียนสอนภาษา เช่น หลักสูตร Learning Time with Timmy สำหรับเด็กเล็ก (4-6 ขวบ) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ออกแบบตามทักษะการเรียนรู้ของเด็กตามธรรมชาติที่เริ่มต้นด้วยการฟัง ทำความเข้าใจ แล้วจึงเริ่มพูด อ่าน และเขียน ผ่านการเรียนรู้ด้วยการเล่น (Playbased methodology) กับสื่อการสอนสร้างสรรค์ร่วมกับบริษัทอาร์ดแมน แอนิเมชั่นผ่านตัวละคร Timmy เป็นต้น
สำหรับในระดับอุดมศึกษาจะทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มากขึ้นในการสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา การวิจัย และอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับส่งเสริมความคล่องตัวของการศึกษาระดับสากล ตั้งแต่การส่งเสริมความร่วมมือของภาคการศึกษา นักวิจัย และภาคธุรกิจเข้าด้วยกัน ด้วยการพัฒนาระบบนิเวศของงานวิจัยอย่างครบวงจร
ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการยกระดับระบบบริหารงานวิจัยของประเทศไทยสู่ความเป็นสากล ทุนวิจัยนิวตันฟันด์ โดยจะทำควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์ และเข้าใจถึงความสำคัญของงานวิจัย ผ่านเวทีการสื่อสารวิทยาศาสตร์ FameLab และโครงการ Researcher Connect
"เพราะต่อไปเทรนด์โลกและทิศทางของรัฐบาลทั้งไทยและทั่วโลกต่างเน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยไทยมีการเปลี่ยนบทบาทไม่ได้สอนแบบเลคเชอร์ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เน้นการปฏิบัติจริง ประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาสังคมมากขึ้น" ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าว
นอกจากนี้ยังจะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์กระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งคนไทยมีทักษะฝีมือด้านหัตถกรรมที่โดดเด่นและประกอบอาชีพด้านงานหัตถกรรมมากถึงกว่า 3 แสนคน ด้วยการส่ง ผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร กลุ่มนักออกแบบชาวไทย และชาวบ้าน ช่างฝีมือกว่า 3,000 คน และกว่า 200 แบรนด์ เพื่อเสริมสร้างทักษะฝีมืองานหัตถกรรมท้องถิ่น สนับสนุนการเติบโตของเครือข่ายงานหัตถกรรมควบคู่กับการเร่งพัฒนาทักษะการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจงานคราฟท์ในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Craft social enterprise) และโครงการพัฒนาบทบาทของศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจ อันนำไปสู่การยกระดับงานหัตถกรรมของไทยให้มีมูลค่าและบทบาทมากขึ้น เพราะธุรกิจสร้างสรรค์เป็นหัวใจที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยนิยมไปศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักรมากขึ้น เป็นเพราะรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศข้อเสนอใหม่ (New Graduate Route) ที่ทำให้นักศึกษาต่างชาติสามารถอยู่เพื่อทำงานในประเทศ ต่อได้อีก 2 ปี อีกทั้งการเรียนปริญญาโทในประเทศอังกฤษใช้เวลาเพียง 2 ปี มีสาขาใหม่ให้เลือกเรียน ไม่ว่าจะเป็นสาขาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือด้านแพทย์ วิศวกร และยังมีทุน GREAT Scholarships ระดับปริญญาโทกว่า 4 ล้านบาท และทุน IELTS Prize 2019/2520 กว่า 2 ล้านบาทด้วย
ระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษคนไทย
กลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา EF Education First ได้ประกาศผลการวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ครั้งที่ 9 หรือ EF English Proficiency Index (EF EPI) ระดับ ภาษาอังกฤษของคนไทยพบว่าตกลง 10 อันดับ
จากผลสอบ EF English Ranking ผลสำรวจการวัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษจากทั่วโลกพบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 64 และตกลงมาอยู่ลำดับที่ 74 ในปี 2562 ซึ่งเลื่อนลงมาจากกลุ่ม "ความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำ" สู่กลุ่ม "ความสามารถทางภาษาอังกฤษต่ำมาก"
ทั้งนี้ ยังพบว่าผลคะแนนความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเฉลี่ยของประเทศไทย ตกลงเรื่อยๆ ใน 3 ปีให้หลังมานี้ จากลำดับที่ 53 สู่ลำดับที่ 64 และล่าสุดอยู่ที่อันดับที่ 74
ข้อมูลชุดนี้ได้ประมวลผลความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษจากผู้คน 2.3 ล้านคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักใน 100 ประเทศ ทั่วโลก สำหรับปี 2562 ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ผลคะแนนความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษสูงสุดแทนที่ประเทศสวีเดน
ทั้งนี้ประเทศไทยยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 จาก 8 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ EF ทำการสำรวจ โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับสูงมากมีเพียง 1 ประเทศคือสิงคโปร์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับสูง เวียดนาม อินโดนีเซีย อยู่ในกลุ่มที่มี ความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับต่ำ และ ไทย เมียนมา กัมพูชารั้งท้ายอยู่ในกลุ่ม ที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับต่ำมาก