ครูผู้ช่วยสอนกำลังสนุกสนานกับกิจกรรมที่มีขึ้นเพื่อต้อนรับพวกเขาก่อนแยกย้ายไปตามโรงเรียน

เมื่อวันที่ 26-28 มิถุนายน บริติช เคานซิลร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและสปอนเซอร์โครงการ ให้การต้อนรับกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Thailand English Teaching Programme สู่ประเทศไทย นิสิตกว่า 248 คนจาก 41 มหาวิทยาลัยใน

สหราชอาณาจักรเข้าร่วมโครงการที่มีระยะเวลา 9 สัปดาห์ ตั้งแต่ 30 มิถุนายนถึง 29 สิงหาคม ซึ่งถือว่านานที่สุดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน นักศึกษาทั้งหมดจะถูกมอบหมายให้รับหน้าที่สอนในสถาบันการศึกษาที่หลากหลายทั่วประเทศ โดยมีตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับอาชีวศึกษา ที่ผ่านมาโครงการได้รับการตอบรับที่ดีจากโรงเรียนไทยที่เข้าร่วม สถาบันการศึกษาในประเทศอังกฤษ หรือแม้แต่ตัวนักศึกษาอังกฤษเองต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน ในปีนี้จำนวนนักศึกษาอังกฤษที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นสูงถึง 25% จากปีที่แล้ว

การปฐมนิเทศโครงการในกรุงเทพฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ 9 สัปดาห์อันน่าตื่นตาตื่นใจของนักศึกษาอังกฤษ ซึ่งมาเป็นเหล่า “ครูผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษ” ทั้งหมดได้รับการต้อนรับที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ในกรุงเทพฯ ก่อนจะแยกย้ายกันไปประจำในแต่ละจังหวัด ซึ่งในการอบรมนี้ นักศึกษาจะได้รับข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ระบบการศึกษาและวิธีการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตแบบไทย พวกเขามีโอกาสทำความรู้จักกับตัวแทนจากแต่ละโรงเรียนที่ต้องไปประจำ และได้รับคำแนะนำในการสอนที่สถาบันนั้นๆ ในปีนี้มีสถาบันการศึกษาในประเทศไทยเข้าร่วมโครงการกว่า 173 แห่ง ในจำนวนนี้มี 104 แห่งเป็นสถาบันของรัฐ 56 แห่งเป็นสถาบันเอกชน และ 13 แห่งเป็นสถาบันอาชีวศึกษา โดยมีสถาบันการศึกษาในกรุงเทพเป็นจำนวน 45 แห่ง ส่วนที่เหลืออยู่กระจัดกระจายไปใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ

โครงการ Thailand English Teaching Programme  หรือ TET ถูกริเริ่มขึ้นในปี 2012 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย โดยมุ่งเน้นความสนใจไปยังการพัฒนาทักษะการพูดและความเข้าใจในภาษาอังกฤษของนักเรียนไทย โครงการ TET มีวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนการมีส่วนร่วม โดยมอบหมายให้นักศึกษาอังกฤษไปทำการสอนในโรงเรียนไทย ซึ่งในที่สุดแล้วนักเรียนไทยจะได้รับโอกาสพัฒนาภาษาอังกฤษของตนให้ดีขึ้นได้  เมื่อ ASEAN ได้กำหนดภาษาอังกฤษให้เป็นภาษากลางแล้วยังเป็นภาษาสากล การส่งเจ้าของภาษาไปยังโรงเรียนทั่วประเทศไทยจะช่วยให้นักเรียนและบุคลากรไทยประสบความสำเร็จในโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ในทำนองเดียวกัน เหล่านักศึกษาอังกฤษก็จะได้รับประสบการณ์การทำงานในต่างแดน แล้วยังมีโอกาสใช้ชีวิตในชุมชนไทย เรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งบทเรียนเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษาอย่างมากในการสมัครงานที่ประเทศอังกฤษหรือในต่างประเทศ

แพ็ททริก ออสบอร์น ซึ่งตอนนี้ประจำอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิสุโขทัยบอกถึงตอนแรกเริ่มที่เขาไปถึงที่โรงเรียน ดังนี้  ‘ถึงผมจะดูเหมือนไอศกรีมที่มีหลายสี ทั้งน้ำตาล ขาวปนชมพูเวลาโดนแสงแดด และรอยสีแดงเป็นแถบๆจากรอยยุงกัด แต่ผมก็รู้สึกยินดีที่ได้เข้ามาสัมผัสกับวัฒนธรรมแปลกใหม่เช่นนี้’  เราหวังว่าแพ็ททริคจะปรับตัวเข้าหาชีวิตแบบไทยๆได้ในช่วง 8 สัปดาห์ต่อจากนี้

เฮเลน ซันเดอร์แลนด์ ผู้เคยประจำอยู่ที่โรงเรียนโรจนวิทย์มาลาเบี่ยง ในจังหวัดพิษณุโลกในโครงการ TET 2013 กล่าวว่า ‘การเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยเป็นเรื่องที่ท้าทายเสมอ บางครั้งก็น่ากลัวนะคะ แต่มองอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นประสบการณ์ที่ช่วยเปิดหูเปิดตาเรา ทั้งน่าตื่นเต้น น่าสนใจ และที่สำคัญน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งค่ะ ’ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าจำนวนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2015