ผู้เรียนภาษาอังกฤษหลายคนบอกว่าการเขียนภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่จริงๆ แล้วเป็นแค่เรื่องของความมั่นใจ ด้วยการฝึกฝนและเคล็ดลับในบทความนี้ คุณจะสามารถเขียนภาษาอังกฤษได้ดีและมั่นใจมากขึ้น โพสต์นี้จะกล่าวถึง 3 ขั้นตอนสำคัญในการสร้างงานเขียน เรียงความ หรือรายงานภาษาอังกฤษที่ดีเยี่ยม ซึ่งประกอบด้วยการวางแผน การเขียน และ การอ่านทวน
และจำไว้ว่า หากคุณต้องการพัฒนาทักษะการเขียนภาษาอังกฤษของคุณอย่างเร่งด่วนเพื่อการสอบ การเรียน หรือการทำงาน วิธีที่รวดเร็วที่สุดคือเข้าคลาสเรียนภาษาอังกฤษซึ่งมุ่งเน้นที่ทักษะเหล่านั้น คุณสามารถค้นหาคอร์สการเขียนภาษาอังกฤษแบบเฉพาะทางได้ที่นี่
มาเริ่มต้นที่จุดแรกกัน การวางแผนเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเขียน ฉันสอนภาษาอังกฤษมาหลายปีแล้ว ฉันสังเกตเห็นว่าผู้เรียนที่วางแผนการเขียนนั้นจะสร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่ามาก ดังนั้น แม้ว่าคุณจะไม่ชอบเรื่องการวางแผนก็ตาม ลองนำไอเดียในบทความนี้ไปใช้กันดู
วางแผนการเขียนของคุณ: ตอบคำถาม
หากเป็นการเขียนสำหรับงานที่มอบหมายในห้องเรียนหรือการสอบภาษาอังกฤษ คุณต้องตอบคำถามที่กำหนดให้ แม้คุณจะมีเวลาแค่ห้านาทีในการวางแผนสิ่งที่จะเขียนก็ตาม แต่ก็ช่วยได้
เริ่มด้วยการแบ่งคำถามออกเป็นส่วนๆ ก่อน คำถามส่วนใหญ่มักจะมีสองหรือสามประเด็น (เช่น สามหัวข้อย่อยในการสอบ Cambridge First) คุณต้องการที่จะตอบคำถามทุกประเด็น และแสดงให้ครูหรือผู้ตรวจเห็นอย่างชัดเจนว่าคุณได้ครอบคลุมทุกประเด็นแล้ว วิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงให้เห็นในเรื่องนี้คือ การแบ่งแต่ละประเด็นออกเป็นย่อหน้า
ระดมคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
ลองนึกถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่คุณรู้จัก บางครั้งคุณอาจต้องการเขียนหนึ่งย่อหน้าเพื่อสื่อสารมุมมองใดมุมมองหนึ่ง แต่ครั้นเมื่อเริ่มวางแผนกลับพบว่านึกคำศัพท์ไม่ออก บางทีคุณอาจเขียนสื่อสารมุมมองอื่นได้ดีกว่าไหม เลือกไอเดียที่คุณสามารถถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างชัดเจน
เขียนกลุ่มคำ
แม้จะมีคำศัพท์มากมายมหาศาล แต่การเขียนเกี่ยวกับไอเดียบางอย่างนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ความเป็นเหตุเป็นผล การคาดการณ์ และสถานการณ์สมมติล้วนเป็นแนวคิดเชิงนามธรรม ทำให้การเขียนสิ่งที่คุณต้องการสื่อสารให้ตรงประเด็นนั้นท้าทายยิ่งขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถทางภาษาอังกฤษของคุณและแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางไวยากรณ์ของคุณด้วย
ลองคิดในใจดูว่าคุณจะโต้แย้งอย่างไร เมื่อคุณติดขัดตรงไหน ให้ลองเขียนส่วนนั้นลงในแผนของคุณ โดยอาจเขียนทั้งประโยคเป็นภาษาอังกฤษ หรือเขียนแค่กลุ่มคำก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าคุณมีความสามารถทางภาษาอังกฤษพอที่จะสื่อสารไอเดียนั้นหรือไม่ หรือคุณต้องจัดระเบียบความคิดของคุณให้ซับซ้อนน้อยลงเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนหรือไม่
สร้างสรรค์งานเขียนภาษาอังกฤษ: ใช้แผนของคุณ
ฉันสังเกตเห็นผู้เรียนภาษาอังกฤษหลายคนที่วางแผนการเขียนเพื่อตอบคำถามอย่างมีเหตุมีผล แต่เมื่อเริ่มลงมือเขียน กลับออกนอกประเด็นแบบไร้ทิศทาง
แน่นอน คุณสามารถปรับเปลี่ยนบางอย่างได้ในขณะที่เขียนเรียงความ แต่การตรวจสอบแผนอยู่เสมอจะช่วยให้คุณไม่หลงประเด็น และยังช่วยให้ทราบจำนวนคำและเวลาที่เหลือด้วย หากคุณกำลังสอบการเขียนอยู่
เขียนบทนำของเรียงความภาษาอังกฤษเป็นลำดับสุดท้าย
อย่างน้อยคุณควรพิจารณาใช้ไอเดียนี้ จุดประสงค์ของบทนำก็คือเพื่อบอกผู้อ่านให้ทราบถึงสิ่งที่กำลังจะอ่าน แล้วคุณจะเขียนบทนำได้อย่างไรในเมื่อคุณยังไม่ได้เขียนเนื้อหาเลย
การเขียนบทนำจะง่ายขึ้นมากเมื่อเรามีเนื้อหาที่เขียนเสร็จแล้วอยู่ตรงหน้า
ถึงแม้คุณจะเขียนในกระดาษ แต่ก็ยังสามารถเขียนบทนำทีหลังได้ โดยคุณแค่ต้องเว้นที่ไว้สองสามบรรทัดสำหรับบทนำ
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าบทนำและบทสรุปของเรียงความสอดคล้องกัน
บทนำและบทสรุปในงานเขียนหรือรายงานภาษาอังกฤษของคุณควรสอดคล้องกับเนื้อหาของย่อหน้าต่างๆ ในเนื้อหาหลักของคุณด้วย เรื่องนี้อาจจะดูเหมือนชัดเจน แต่ฉันมักจะเห็นบทสรุปที่ไม่สอดคล้องกับบทนำในเรียงความ
คุณสามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้โดยการเขียนบทสรุปเป็นลำดับสุดท้าย นอกจากนี้ การวางแผนและการไตร่ตรองให้ลึกซึ้งอีกสักหน่อยว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับคำถามก่อนเริ่มต้นเขียนจะช่วยคุณหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้เช่นกัน คุณไม่จำเป็นต้องคิดหาคำตอบเป็นเวลาหลายชั่วโมง แค่หนึ่งนาทีหรือสองนาทีก็พอ
ใช้คำเชื่อมเพื่อเชื่อมโยงงานเขียนภาษาอังกฤษของคุณ
คำเชื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก ผู้คนมักคิดว่าคำเชื่อมเป็นวิธีการสื่อสาร "ภาษาอังกฤษแบบเป็นทางการ" แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราใช้คำเชื่อมอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่พูดคุยกับเพื่อนก็ตาม เราใช้คำเชื่อมทั้งในการพูดและการเขียนเพื่อบอกว่า "ฉันจะเพิ่มเติมสิ่งที่เพิ่งกล่าวไปก่อนหน้านี้" หรือ "ฉันจะโต้แย้งสิ่งที่เพิ่งกล่าวไปก่อนหน้านี้"
คำเชื่อมในภาษาอังกฤษนั้นเป็นเพียงคำหรือวลีที่เชื่อมประโยคหรือแนวคิดเข้าด้วยกัน เพื่อให้การเขียนหรือการพูดของคุณชัดเจนและมีเหตุมีผลมากขึ้น ตัวอย่าง ได้แก่ and (และ), but (แต่), because (เพราะ) และ however (อย่างไรก็ตาม)
อ่านงานเขียนภาษาอังกฤษของคุณหลังจากที่เขียนเสร็จ
ผู้เรียนภาษาอังกฤษหลายคนมักไม่ค่อยอยากอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียน แต่ก่อนที่คุณจะส่งเรียงความ โปรดอ่านทวนอีกครั้งเพื่อตรวจสอบข้อผิดพลาดต่างๆ เช่น สะกดคำผิด ไม่ได้เติม s กรณีประธานเป็นบุคคลที่สาม อักษรตัวพิมพ์ใหญ่ หรืออะไรก็ตามที่คุณมักจะผิดบ่อยๆ
และถ้าคุณไม่รู้ว่าตัวเองผิดตรงไหนบ่อยๆ นั่นเป็นเพราะคุณไม่เคยตรวจสอบการเขียนของคุณ การอ่านเรียงความจะช่วยให้คุณเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนในการเขียนของตัวคุณเองเป็นอย่างดี วิธีนี้จะช่วยให้งานเขียนภาษาอังกฤษของคุณดีขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ คุณควรอ่านงานเขียนหรือบทความของคุณอีกครั้ง เพราะการได้เห็นว่าคุณอธิบายไอเดียเป็นภาษาอังกฤษได้ดีแค่ไหนนั้นเป็นเรื่องที่สนุก คุณทำได้แล้ว ยอดเยี่ยมเลย ขอให้จดจำช่วงเวลานี้ไว้ด้วยความรู้สึกดีๆ