เขียนภาษาอังกฤษให้เร็วทำอย่างไร
ทักษะภาษาอังกฤษแบ่งออกเป็น 4 ทักษะหลักๆได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน บ่อยครั้งที่การเขียนนั้นเป็นยาขมของใครหลายๆคน และดูจะเป็นทักษะที่ฝึกได้ยากที่สุดในบรรดา 4 ทักษะ และเมื่อเราต้องทำงานและได้รับมอบหมายให้ต้องเขียนเอกสาร รายงาน minute หรือแม้แต่ email เป็นภาษาอังกฤษด้วยแล้วละก็บางคนอาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการเขียน email สักฉบับ หรืออาจจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวเมื่อต้องเขียน minute of meeting เป็นภาษาอังกฤษ ปัญหาเหล่านี้จะถูกทำให้ดูเลวร้ายลงไปอีกเมื่อคุณมีงานอื่นๆนอกจากนี้ประเดประดังเข้ามาไม่หยุดหย่อน แล้วคุณจะทำอย่างเพื่อไม่ให้การเขียนเอกสารภาษาอังกฤษสักชิ้นเป็นตัวถ่วงที่ทำให้งานอื่นๆของคุณล่าช้า วันนี้บริติช เคานซิล มีคำตอบให้กับคุณ โดยเรามีขั้นตอนง่ายๆในการเขียนเอกสารแต่มีประสิทธิภาพสูง ดังนี้
1. คิดถึงผู้อ่านก่อนโดยคุณจะต้องตอบคำถามกับตัวเองดังนี้
- วัตถุประสงค์ของงานที่คุณกำลังเขียนคืออะไร
- ใครคือผู้ที่จะต้องอ่านงานหรือเอกสารของคุณ
- อะไรที่คุณอยากจะให้ผู้ที่อ่านงานคุณรับทราบ
- คุณคิดว่าคนที่อ่านงานของคุณคาดหวังอะไรจากงานนี้
2. เก็บรวบรวมข้อมูล
เมื่อทราบถึงวัตถุประสงค์แล้วก็เริ่มเก็บข้อมูลที่จะต้องถูกประกอบอยู่ในเอกสารหรืองานของคุณกันเลยค่ะ
3. เลือกสิ่งที่จะนำเสนอ
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนจากข้อ 2 แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเลือกข้อมูลที่ต้องการจะใช้ค่ะ จงระลึกไว้เสมอว่าเราไม่สามารถเอาเนื้อหาข้อมูลทั้งหมดที่เรามีนำไปเขียนลงในเอกสารได้ทั้งหมด จงเลือกเฉพาะสิ่งที่จำเป็นและจะต้องเป็นสิ่งที่ผู้อ่านอยากทราบค่ะ ถ้าหากคุณเขียนในสิ่งที่คุณคิดว่าน่าสนใจและจำเป็นแต่ผู้อ่านงานของคุณไม่ได้รู้สึกอยากทราบหรือสนใจด้วยแล้วละก็ งานคุณก็จะกลายเป็นงานที่ไม่น่าสนใจไปเลยก็ได้
4. เริ่มเขียนกันเลย
เมื่อได้ข้อมูลแล้วและเลือกสิ่งที่ต้องการจะเขียนได้แล้วก็มาถึงขั้นตอนการเขียนค่ะ โดยมีเทคนิคว่าให้เขียนสิ่งที่ต้องการเขียนไปก่อนแต่ให้ Strick to the plan นะคะ นั่นก็คือต้องเขียนไปตามแผนที่เราวางเอาไว้ค่ะ อย่างไรก็ตามในขั้นตอนนี้อย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องความถูกต้องของภาษาที่ใช้นะคะ ให้คุณเขียนสิ่งต่างๆหรือเน้นที่เนื้อหาสาระ (Content and Information) ที่ต้องการเขียนก่อน มิเช่นนั้นแล้วมันจะทำให้คุณเขียนได้ช้าลงค่ะ ซึ่งนี่เป็นหัวใจหลักสำหรับเทคนิคการเขียนให้เร็วของตอนนี้นะคะ
5. Edit รายละเอียด
เมื่อคุณเขียนงานออกมาได้แล้วจากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการเพิ่มเติมหรือลดทอนรายละเอียดที่อยากจเพิ่มหรือลดค่ะ เมื่อเราทราบถึง detail ที่อยากจะเขียนเพิ่มขึ้น มันจะทำให้รู้ว่าต้องจัดการอย่างไรกับ First Draft ที่คุณเพิ่งเขียนจบลงไปค่ะ
6. อ่านทวนและตรวจทาน
นี่เป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการเขียนค่ะ นั่นก็คือการอ่านทวนและตรวจทานสิ่งต่างๆที่คุณได้เขียนเป็น อาจจะมีการปรับ wording หรือภาษาเพื่อให้ดูกระฉับได้ใจความและมีความสละสรวยมากยิ่งขึ้นก็จะอยู่ที่ขั้นตอนนี้ค่ะ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 6 ขั้นตอนง่ายๆ สำหรับการวางแผนการเขียนเอกสารหรืองานสักชิ้น ทั้งนี้เมื่อเรามีแผนการที่ดีแล้วมันจะช่วยทำให้เราเขียนได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ไม่เพียงแต่ใช้ได้ดีกับการเขียนงานเป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้น หากแต่สำหรับภาษาไทยของเราเองคุณผู้อ่านก็สามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ได้เช่นกันค่ะ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อเรามีเทคนิคที่ดีแล้ว การฝึกฝนจะเป็นตัวช่วยให้เราชำนาญและจะทำให้เราพัฒนางานของตัวเองให้ออกมาดียิ่งขึ้นๆค่ะ
หากแฟนๆบริติช เคานซิล สนใจที่อยากฝึกฝนสิ่งต่างๆเหล่านี้ ที่บริติช เคานซิล มีคอร์สเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษของคุณ เพื่อให้คุณมีความพร้อมสำหรับการทำงานและเพื่อความสำเร็จในอนาคตของตัวคุณ เข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคอร์สเรียน myClass Boost ได้ที่นี่