ดร. วนนิตย์ วิมุตติสุข เข้าร่วมแข่งขัน FameLab ปีที่แล้ว และผ่านเข้าสู่รอบ 10 คนสุดท้าย มาดูบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนั้น

ช่วยแนะนำตัวเองและบทบาทของคุณ ในฐานะผู้หญิงที่ทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์ 

ชื่อ วนนิตย์ วิมุตติสุข ค่ะ แต่ส่วนมากคนจะเรียกชื่อเล่นว่า ‘เมย์’ มากกว่า สำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาเอกด้านชีวเคมี จากมหาวิทยาลัย Brown ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นนักวิจัยที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งทำมาแล้วประมาณ 9 ปีค่ะ งานวิจัยที่เมย์รับผิดชอบอยู่ตอนนี้คือ ศึกษาเรื่องการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์ของกุ้งกุลาดำ เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทยที่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ 

เมย์ชอบวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก และปัจจุบันก็ยังชอบอยู่ นอกเหนือจากการเป็นนักวิจัยแล้ว ก็ ยังไปเป็นอาสาสมัครในค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอยู่เสมอค่ะ จึงทำให้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมกับเด็กในวัยต่างๆ ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมศึกษา และก็หวังว่าตัวเราจะสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจกับน้องๆ ให้รักการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ จนสามารถที่จะเดินตามความฝันจนได้ทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์เหมือนกับเมย์ค่ะ 

ช่วยเล่าเรื่องที่คุณพูดในการแข่งขัน FameLab รอบตัดสินให้ฟังหน่อยว่าอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้เลือกหัวข้อนี้ รวมถึงขั้นตอนการเตรียมตัวและอุปกรณ์ที่คุณใช้ด้วย

ในการแข่งขัน FameLab รอบตัดสิน เมย์พูดเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียที่มีภาวะดื้อยา (drug resistance) ที่เลือกหัวข้อนี้เพราะการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เมื่อคนไข้ติดเชื้อที่ที่มียีนต่อต้านยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกกันว่า ‘ซูเปอร์บั๊ก (superbug)’ แล้ว นั่นหมายความว่ายาปฏิชีวนะใดๆ ที่มีบนโลกตอนนี้ก็ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นได้เลย หากเรายังใช้ยาปฏิชีวนะในทางที่ผิด สร้างหรือก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาเหล่านี้ขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจแล้วล่ะก็ เราคงได้ย้อนกลับไปใช้ชีวิตในยุคมืด ที่ไม่มียารักษาโรคหรืออาการป่วยจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้เลย และหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดีขึ้น ชีวิตคนกว่า 50 ล้านคนก็ยังคงเสี่ยงกับการติดเชื้อซูเปอร์บั๊กในอีก 10 ปี ข้างหน้า 

นอกจากนี้ คนไทยส่วนมากยังไม่มีความตระหนักที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะเหล่านี้ ดังนั้นเมย์จึงอยากเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ความรู้โดยการเลือกพูดหัวข้อนี้ในการแข่งขันค่ะ กลยุทธ์ของเมย์ที่จะทำให้คนจดจำเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุดคือ การผูกเรื่องราวที่เน้นความสนุกสนานขึ้นมา และเป็นในมุมมองของเจ้าพวกเชื้อแบคทีเรีย เมย์แต่งตัวเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า  ‘Staphylococcus aureus’ ซึ่งมีลักษณะเป็นตัวกลมๆ สีเหลือง ซึ่งเราก็ทำพร๊อพสวมหัวเลียนแบบให้เป็นกลมๆ เหลืองๆ เหมือนกัน โดยเรื่องของเราจะเป็นการเดินทางผจญภัยของเจ้าแบคทีเรียผู้ไร้เดียงสา ที่ต้องมาเจอกับยาปฏิชีวนะ และพยายามต่อสู้เอาตัวรอดโดยการพัฒนากลไกภายในตัวเองเพื่อต่อต้านยานั้น นอกจากเครื่องแต่งกายแล้ว เมย์ก็มีของประกอบฉากอื่นๆ อีก เช่น ดาบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเอนไซม์ที่เป็นตัวฆ่ายาปฏิชีวนะ และชั้นวางกระดาษที่เปรียบเสมือนการแบ่งตัวของยีนที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะซึ่งสามารถแพร่ไปสู่แบคทีเรียชนิดอื่นๆ ได้อีก สุดท้ายแล้ว ใจความหลักที่เมย์ต้องการจะสื่อถึงทุกๆ คนก็คือควรใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อจำเป็นเท่านั้น และต้องใช้อย่างถูกวิธีด้วย เพื่อไม่ให้แบคทีเรียเหล่านี้พัฒนาตัวเองเพื่อต่อต้านยาได้

ทำไมการสื่อสารเรื่องวิทยาศาสตร์ถึงเป็นสิ่งสำคัญ 

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เมย์คิดเสมอว่าวิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าอย่างน่าอัศจรรย์สำหรับทุกๆ คน 

แต่น่าเสียดายที่ทุกคนไม่ได้คิดแบบนี้ เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไม่ค่อยชอบนัก คือวิชาวิทยาศาสตร์มักถูกนำเสนอออกไปในรูปแบบที่น่าเบื่อ และเป็นวิชาการมากจนเกินไป ดังนั้น การเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์กับคนทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ต้องเรียนรู้ที่จะเล่าเรื่องให้เป็น และเล่ามันผ่านสายตาของคนธรรมดา อาจจะมีการเพิ่มมุขตลก หรือเน้นใจความที่เราต้องการ ให้คนจดจำได้ ถ้าทำได้แบบนี้ เราก็สามารถที่จะผลักดันโครงการต่างๆ ให้สำเร็จได้เป็นอย่างดีค่ะ เราสามารถใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ และลบล้างความเชื่อทางไสยศาสตร์บางอย่างที่อาจจะก่อให้เกิดผลเสียกับชีวิตของเรา นักเรียนจะสามารเข้าใจเนื้อหาในชั้นเรียน และสามารถใช้ความรู้นั้นๆ ในโครงการอื่นๆ หรือแม้แต่สร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้  หากเจ้าหน้าที่ของรัฐตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ทุนการศึกษา และโอกาสการทำวิจัยต่างๆ ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ และมันจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างงานให้กับผู้คนทั่วโลกได้