Social enterprise ที่ก่อตั้งโดย ศิรษา บุญมา ศิษย์เก่าดีเด่นสหราชอาณาจักร ที่มาพร้อมแนวคิดที่อยากให้ชาวเผ่าและชนกลุ่มน้อยกล้าเปิดเผยตัวเองผ่านงานแสดงเสียงดนตรี

การมีธุรกิจเป็นของตัวเองเป็นสิ่งที่ ศิรษา บุญมา หรือ เม ใฝ่ฝันอยากจะมีมาโดยตลอด เธอค้นพบธุรกิจที่ใช่สำหรับตัวเองหลังจากจบปริญญาโทจาก Goldsmiths University of London และพัฒนามันจนกลายเป็น Social enterprise ที่ชื่อว่า Hear & Found ซึ่งแม้จะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่ถึง 2 ปี แต่กลับสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้สังคมไม่น้อย และทำให้เธอได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นปี 2020 ด้าน Social Impact ไปในที่สุด เราไปทำความรู้จักเธอ แนวคิดธุรกิจ และความท้าทายต่าง ๆ ผ่านบทสัมภาษณ์นี้กัน

Q: ช่วยแนะนำที่มาที่ไปของ Hear & Found ให้เรารู้จักหน่อย

A: Hear&Found เป็นองค์กรที่ทำธุรกิจและทำเพื่อสังคมในเวลาเดียวกัน เป้าหมายหลักคือต้องการให้ให้คนชนเผ่าและชนพื้นเมืองในไทย ได้รับการยอมรับจากคนอื่น ๆ ในสังคม ปัญหาเช่น คนอาจจะชอบมองว่าชาวเขาชอบเผาป่า มันเป็นจริงหรือเปล่า เราเริ่มจากไปอยู่ในพื้นที่จริง ไปฟังเพลงเขาทุกเพลง แล้วคุยกันว่าเรามาทำอีเว้นท์ด้วยกันนะ มาทำให้คนอื่น รู้จักเราผ่านการแสดงดนตรี แล้วเราก็ใช้ชื่อกิจกรรมว่า World Music Series ค่ะ

Q: ทำไมถึงเลือกใช้ดนตรีเป็นวิธีหลักในการสื่อสาร

A: ดนตรีเป็นตัวเชื่อมที่ง่ายค่ะ เราเอาดนตรีชาวเผ่ามามิกซ์กับดนตรีแนวอื่น เขาทำเพลงเองเลยนะ ซึ่งมันสร้างการมีส่วนร่วมให้คนที่มาดูโชว์ได้ เช่น เอาเพลงฮิพฮอพผสมปกาเกอะญอ และเรามองว่าดนตรีคล้ายหนังสือ ไม่ใช่แค่ให้ความบันเทิงแต่ยังบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิตความเชื่อ อย่างชนเผ่าไทยทรงดำ เขามีเพลงงานศพยาว 3 ชั่วโมง เป็นเพลงที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเพื่อบอกทางกลับบ้านหรือก็คือเวียดนามให้ผู้เสียชีวิต ในเพลงก็จะบอกว่าต้องเดินข้ามเขาลูกไหน มันทำให้รู้ว่ายังมีเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับพวกเขาอีกเยอะ ชาวเผ่าก็เป็นคนไม่ได้ต่างจากเรา

"ที่ Hear & Found เราเลยมีวิสัยทัศน์ว่า อยากเห็นคนที่เดินออกจากบ้านไปแล้วรู้สึกว่า ฉันมั่นใจที่ฉันเป็นตัวเอง"

Q: ผลที่ได้จากกิจกรรมที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ประสบความสำเร็จไหม

A:  เราจัดกิจกรรมกับโฮสเทลที่เป็นพาร์ทเนอร์ซึ่งต้องการให้มีกิจกรรมให้ความบันเทิงกับผู้มาพัก อาจจะคิดว่าผู้มาพักส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวต่างชาติเหรอ ต้องบอกเลยว่าครึ่งครึ่ง คนไทยที่มาส่วนใหญ่ตั้งใจมาชมคอนเสิร์ตโดยเฉพาะ ปีที่ผ่านมาเราจัด 9 งาน คนมารวม 600 คน และร้อยละ 80 บอกว่าเขาเข้าใจความหลากหลายของสังคมไทยมากขึ้น

Q: แล้วในแง่ของธุรกิจโอเคไหม

A: เราขายบัตร 300-400 บาท ซึ่งถูกมากนะ ส่วนค่าตัวพี่ ๆ ชาวเผ่าเราให้ตามที่เขาต้องการ อาจจะไม่ได้เยอะมากแต่ก็ทำให้เขามีรายได้สม่ำเสมอ เราเลยพยายามจัดงานให้สม่ำเสมอขึ้นด้วย เรายังแบ่งค่าบัตร 30 บาทต่อใบไปเป็นกองทุน แล้วให้ศิลปินเลือกว่าจะเอาเงินนี้ไปสนับสนุนบ้านเขายังไง ซึ่งในเชิงธุรกิจยังไม่ลงตัวมากนัก ที่ผ่านมาจะเป็นในรูปแบบ Product testing เรารู้แล้วว่าคนเข้าใจงานเรามากขึ้น ก็ถึงเวลาไปให้สุดทาง

Q: ได้รู้จัก Hear & Found ประมาณหนึ่งแล้ว ขอย้อนกลับมาที่ตัวของคุณเม เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจากการเรียนปริญญาโทที่ UK มันมีที่มาที่ไปอย่างไรเล่าให้เราฟังหน่อย

A: เราเห็น London เป็นตัวอย่าง ตอนเรียนที่นั่นเรารู้สึกว่านี่เป็นเมืองที่คนมาจากหลากหลายเชื้อชาติมาก ไม่ว่าจะเอเชีย หรือตะวันออกกลาง แล้วมันก็โอเค พอกลับถึงจะรู้สึกว่าคน 2 กลุ่มนี้ยากมากที่จะมาเชื่อมกันเพราะต่างคนต่างอยู่ แต่มันก็ต้องเป็นไปได้สิ ที่ Hear & Found เราเลยมีวิสัยทัศน์ว่า อยากเห็นคนที่เดินออกจากบ้านไปแล้วรู้สึกว่า ‘ฉันมั่นใจที่ฉันเป็นตัวเอง' น้อง ๆ ชนเผ่าเป็นอย่างงี้เยอะ เขาไม่สามารถแสดงตัวตนว่าเป็นชนเผ่าได้ ไม่มีโอกาสทางการศึกษาเลยด้วยซ้ำ เขาเลยไม่อยากเป็นตัวเอง เราอยากให้ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองจริงๆ

Q: คำถามสุดท้าย ทำไมเราถึงเลือกเรียนที่อังกฤษ

A: อย่างที่รู้ตั้งแต่ตอนเลือกว่าอังกฤษมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมสูงมาก ทำให้เป็นตัวเลือกแรกอยู่แล้ว สิ่งที่ยากคือตอนเลือกมหาวิทยาลัยมากกว่าค่ะ

“สหราชอาณาจักรทำให้เรารู้สึกว่าทุกอย่างเป็นไปได้ อย่างเวลาเขาจัดอีเว้นท์ ถ้าอยู่ไทยทำไมยากและดูเป็นทางการจัง แต่ที่นั่นเขามีวิธีจัดง่าย ๆ สบาย ๆ และทุกคนมาก็ happy ได้ เราเอาตรงนั้นมาปรับใช้กับงานเรา”

ไปทำความรู้จัก ผู้เข้ารอบ 11 คนสุดท้าย UK Alumni Awards 2020 เพิ่มเติม