Newton Fund Institutional Links

เป้าหมายของเรา

ทุนวิจัย Newton Fund ภายใต้กรมยุทธศาสตร์ธุรกิจ พลังงาน และอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร มีเป้าหมายพัฒนาความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมระหว่างประเทศเพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจคุณภาพชีวิต ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือระดับทวิภาคีที่เข้มแข็งขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรและ 16 ประเทศพันธมิตร ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

ทุนสนับสนุน

โครงการทุนวิจัย Newton Fund ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 และเริ่มจากทุนสนับสนุนประจำปีมูลค่า 75 ล้านปอนด์ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี หลังจากนั้นมีการขยายโครงการจากปี พ.ศ.2562 ไปจนถึงปี พ.ศ. 2564 และเพิ่มเงินทุนสนับสนุนจาก 75 ล้านปอนด์เป็น 150 ล้านปอนด์ในปี พ.ศ.2564 ทำให้คิดเป็นเงินทุนสนันสนุนทั้งสิ้น 735 ล้านปอนด์ ตลอดระยะเวลาโครงการ

โฟกัสของเรา

บริติช เคานซิลทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร Universities UK International (UUKi) และผู้ร่วมทุนภายในประเทศ ดำเนินโครงการ 5 ด้านด้วยกันกับประเทศไทย โดยในแต่ละโครงการ บริติช เคานซิลให้ความสำคัญกับด้านวิชาการ ซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ไปจนถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โครงการของเรา

แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นในเดือนเมษายน พ.ศ.2557 ทุนวิจัย Newton Fund ได้สนับสนุนนักวิจัยแล้วกว่าพันคนในประเทศไทย เรามีโครงการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนของนักวิจัย และสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในระดับกลุ่มและองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงนักวิจัยด้วยกันผ่านโครงการ Researcher Links (การสนับสนุนการอบรมเชิงปฏิบัติการ และเงินทุนในการเดินทางเพื่อทำงานวิจัย) และการเชื่อมโยงสถาบันผ่านโครงการ Institutional Links รวมถึงการพัฒนาศักยภาพผ่านการให้ทุนนักศึกษาปริญญาเอก การพัฒนาวิชาชีพ และสะเต็มศึกษา

พันธกิจร่วม

องค์ประกอบด้านความร่วมมือที่สำคัญภายใต้โครงการทุนวิจัย Newton Fund คือ การร่วมทุน ซึ่งรูปแบบการร่วมทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่การทำให้มีเงินในกองทุนเพื่อจะนำมาดำเนินการมากขึ้น แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรในฐานะหุ้นส่วนที่มีฐานะเท่าเทียมกันในโครงการ และมีหน้าที่ร่วมกันในการผลักดันทิศทางยุทธศาสตร์ของกองทุน โดยในประเทศไทย บริติช เคานซิลทำงานร่วมกับพันธมิตร 6 แห่งภายใต้โครงการทุนวิจัย Newton Fund ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

คำรับรอง

“เราสร้างความเชื่อมโยงเพื่อให้ [นักวิจัย] ก้าวหน้าต่อไปได้ โดยเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า งานวิจัยที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างประเทศเป็นผลงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ทั้งกับนักวิจัยไทยและสหราชอาณาจักร”

ดร. แคลร์ แม็คนัลตี, อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ บริติช เคานซิล สหราชอาณาจักร