ประเทศไทยได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจการเพื่อสังคมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยได้กลายมาเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในส่วนของภาคส่วนกิจการเพื่อสังคมของประเทศนั้น มีการจัดตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติซึ่งมี่หน้าที่ส่งเสริมการพัฒนากิจการเพื่อสังคมโดยตรง นอกจากนั้น ภาคส่วนนี้ยังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาคการเมื่อง ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ตลอดจนสื่อสารมวลชน
รูปแบบการดำเนินงานด้านกิการเพื่อสังคมในประเทศไทยนั้น เป็นที่ประจักษ์ว่าได้รับแรงบันดาลใจ และองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร และบริติช เคานซิล ประเทศไทย ได้ดำเนินงานในฐานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศตั้งแต่มีการเริ่มดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคม ภายใต้โครงการกิจการเพื่อสังคมของเรา เราได้สร้างความสัมพันธ์และร่วมสนับสนุนการดำเนินงานกับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ โดยบริติช เคานซิล ได้แสดงบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรในด้านต่างๆ เช่น ด้านนโยบาย ด้านการลงทุนเพื่อสังคม และด้านกิจการเพื่อสังคมกับการอุดมศึกษา
ด้านนโยบายและพันธกิจสัมพันธ์กับภาครัฐ
ในปี 2553 ทางบริติช เคานซิล ได้จัดการศึกษาดูงานด้านกิจการเพื่อสังคม ณ สหราชอาณาจักร ให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานรัฐบาลไทยและผู้สื่อข่าว เพื่อศึกษาถึงการพัฒนาและผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคมในสหราชอาณาจักร
หลังจากการศึกษาดูงาน ทางรัฐบาลไทยได้ตัดสินใจเดินหน้าส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ เรื่องนวัตกรรมทางสังคม โดยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (National Social Enterprise Committee) ซึ่งหนึ่งในคณะกรรมาธิการเป็นตัวแทนจากทางบริติช เคานซิล ทางคณะกรรมาธิการกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติได้เดินหน้าดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคมโดยการจัดตั้ง สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่เข้ามาอำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนและขยายการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย โดยการจัดตั้งสำนักงานกิจการเพื่อสังคมแห่งชาตินั้น นับได้ว่าเป็นผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานภายใต้คำแนะนำของบริติช เคานซิล
ในปี 2557 บริติช เคานซิล ได้จัดการศึกษาดูงานด้านการลงทุนเพื่อสังคม ณ สหราชอาณาจักร ให้กับประธานและรองประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อศึกษาเรียนรู้นวัตกรรมด้านการลงทุนเพื่อสังคมของสหราชอาณาจักร สำหรับนวัตกรรมด้านการลงทุนเพื่อสังคมในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งกองทุนรวม B-KIND และขณะนี้กำลังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารการลงทุนเพื่อสังคม
ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 บริติช เคานซิล ได้เชิญ Sir Ronald Cohen ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานด้านการลงทุนเพื่อสังคมของกลุ่มประเทศ G 8 มาบรรยาย ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมด้านนโยบายกับรองนายกรัฐมนตรี ผุ้บริหารระดับสูงของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปัจจุบันในส่วนของประเทศไทยนั้น มีแผนการในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการลงทุนเพื่อสังคมภายใต้ความร่วมมือจากคณะทำงานของกลุ่มประเทศ G 8
ในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน บริติช เคานซิล ได้จัดการศึกษาดูงานให้กับรองนายกรัฐมนตรีและคณะ เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมในภาคส่วนการบริการสาธารณะ การดำเนินงานด้านการลงทุนเพื่อสังคม ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคส่วนกิจการเพื่อสังคม เพื่อนำมาปรับใช้กับเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี
ด้านการเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการทางสังคม
โครงการกิจการเพื่อสังคมได้พัฒนาและดำเนินการจัดฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการทางสังคมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถยกระดับผลกระทบจากการดำเนินงานของตน
ตัวอย่างกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพ เช่น โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘Unltd Campus & Skills for Social Entrepreneurs Capacity Building and Training Workshops ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบทางสังคมได้เรียนรู้ถึงวิธีการนำเสนอโครงการต่อนักลงทุนหรือภาคธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ การประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ และการแสวงหาเงินทุนสนับสนุน โดยการอบรมเชิงปฏิบัตการนี้ ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริติช เคานซิล สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ และสถาบัน Change Fusion
ในปี 2558 บริติช เคานซิล ประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ที่ริเริ่มดำเนินโครงการ Business Investment Readiness (BIR) ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ ในการจัดกิจกรรมการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการหัตถกรรมด้านการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม เพื่อเพิ่มพูนทักษะและพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการทำธุรกิจให้แก่ชุมชนหัตถกรรมไทย ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการโดย Cockpit Arts ผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรในด้านนวัตกรรมการออกแบบและด้านกิจการเพื่อสังคม (social enterprise) เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการหัตถกรรมไทยสู่เวทีโลก
โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศไทยทั้งด้านการพัฒนางานหัตถกรรมและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยการอบรมและการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและการทำกิจการเพื่อสังคมจะช่วยพัฒนาทักษะทางธุรกิจและช่วยเพิ่มผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมผ่านการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ กิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมต้นแบบของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าที่สอดคล้องกับเป้าหมายในการยกระดับงานหัตถกรรมและคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เกี่ยวข้อง
ด้านการบูรณาการกิจการเพื่อสังคมกับระบบการศึกษา
บริติช เคานซิล ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรและประเทศไทยด้านกิจการเพื่อสังคม ซึ่งในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาของทั้งสองประเทศนั้นได้แสดงความมุ่งมั่นในการนำประเด็นการประกอบการเพื่อสังคมมาเป็นวิธีการแบบใหม่ในการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชุมและสร้างความสัมพันธ์กับนิสิตนักศึกษาของตน
เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของทั้งสองประเทศ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาและยกระดับองค์ความรู้ด้านกิจการเพื่อสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรม ในปีนี้ บริติช เคานซิล ประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการพัฒนาหลักสูตรการประกอบการเพื่อสังคมระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร หรือ Thai-UK University Social Enterprise Curriculum Development ‘Buddy’ Programme ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการประกอบการเพื่อสังคม โดยในระยะแรกจะเน้นการแบ่งปันประสบการณ์การจัดการหลักสูตร โดยอาศัยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย Goldsmiths, University of London จากสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการหลักสูตรการประกอบการเพื่อสังคม ทั้งด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรและประเทศไทย โครงการนี้ จะเริ่มนำร่องกับสองมหาวิทยาลัยไทย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจัดการหลักสูตรการประกอบการเพื่อสังคมแล้ว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จะได้มีโอกาสพัฒนาบุคลากรของตนเองโดยผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นจาก Goldsmiths, University of London และเข้าร่วมสังเกตการณ์และเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนจริงอีกด้วย นอกเหนือจากการฝึกอบรมแล้ว ยังมีการพัฒนาความรู้ทางวิชาการและงานวิจัยร่วมกันระหว่างไทย-สหราชอาณาจักร และในระยะต่อไปจะเน้นที่การพัฒนาระบบประกันคุณภาพหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน และขยายการความร่วมมือไปสู่แลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยจากทั้งสองประเทศ