นักวิทยาศาสตร์ส่วนมากเห็นพ้องกันว่า พฤติกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหานี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อสังคมและชุมชนในหลายแห่งทั่วโลก นี่คือ 5 สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งที่สหราชอาณาจักรและประเทศไทยกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลกนี้
1. ปัญหาอยู่ใกล้กว่าที่คุณคิด
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ไม่ได้มีเพียงแค่มีผลโดยตรงต่อสภาพอากาศ ฤดูกาล และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสังคมทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด ความปลอดภัย และเศรษฐกิจ อาหารของเราอาศัยการเกษตรและการปศุสัตว์รวมไปถึงสัตว์น้ำที่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่เหมาะสมและแหล่งน้ำที่สะอาด ซึ่งหากต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดภาวะอุทกภัยและทุพภิกขภัย ก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหาร
อุทกภัยและทุพภิกขภัยยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน หากไม่มีการปรับตัวหรือโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าในภายในพ.ศ. 2643 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 4 ฟุต และกรุงเทพมีความเสี่ยงจมใต้น้ำภายใน 15 ปีหลังจากนั้น สิ่งเหล่านี้จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีการแพร่กระจายของโรคเขตร้อนไปยังภูมิภาคที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า
2. ปัญหาเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คุณคิด
จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีแค่ธารน้ำแข็งที่ละลายเร็วมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีข้อมูลอื่นที่แสดงแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน เช่น สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นและจำนวนครั้งในการเกิดที่มีมากขึ้นในทศวรรศที่ผ่านมา สถานีวิเคราะห์ภูมิอากาศต่างๆ ทั่วโลกพบว่า ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกสำคัญในชั้นบรรยากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยสถานีวิเคราะห์สามแห่งได้ยืนยันว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ยังได้รายงานว่า ช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมามีอุณหภูมิที่สูงกว่าปีไหนๆในอดีต นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่ามีภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมครั้งรุนแรง คลื่นความร้อน และพายุเฮอริเคน รวมถึงการสูญเสียมากขึ้นในแต่ละปี และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศลำดับที่ 9 ที่ได้ระดับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นใน 20 ปีที่ผ่านมา (อ้างอิงรายงานโดย Germanwatch)
3. ผลของมันรุนแรงมากขึ้น
การเปลี่ยนอุณหภูมิเพียงแค่ 2 องศาเซลเซียส หากเปรียบเทียบการกดปุ่มบนรีโมทเครื่องปรับอากาศ คุณอาจไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง แต่หากการเปลี่ยนแปลงนี้ขยายไปยังระดับโลกจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการังทั้งหมดในทะเลจะเกิดการฟอกขาวภายในปี พ.ศ. 2643 โดยไม่มีแนวปะการังที่มีชีวิตเพื่อเป็นบ้านสำหรับสัตว์ในทะเลและคนรุ่นหลังได้ชม ทั้งนี้ยังมีความเสียหายต่อประชากรแมลง พืช และสัตว์มีกระดูกสันหลังที่เสี่ยงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการสูญพันธุ์ และประชากรอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของโลกจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนสูงทุกๆ 20 ปี และยังมีอัตราความเสี่ยงจากอุทกภัยเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า
ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนับเป็นมูลค่าถึง 300 – 420 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (เทียบเท่ากับ 9.8 พันล้านบาท – 1.39 หมื่นล้านบาท) รวมไปถึงการสูญเสียพืชไร่กว่าร้อยละ 15 ภายในปีพ.ศ. 2593 จากฤดูแล้งที่ยาวนานขึ้นและฤดูฝนที่ตกไม่แน่นอน
4. หลายประเทศกำลังดำเนินการมากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหานี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชากรเท่านั้น แต่เศรษฐกิจโลกยังตกอยู่ในความเสี่ยงและหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังร่วมมือกันเพื่อจัดการกับปัญหานี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้กำหนดแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 78 ภายในปี พ.ศ. 2578 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 โดยดำเนินการผ่านแนวทางต่างๆ ร่วมกันจากทุกภาคส่วน เช่น การกำหนดให้รถยนต์ที่ผลิตขึ้นมาใหม่หลังพ.ศ. 2573 ต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น
นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังเป็นผู้จัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำจากทั่วโลกเพื่อหารือแนวทาง และกำหนดทิศทางในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป
สำหรับประเทศไทย ได้พัฒนาแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2558 - 2593) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง โดยมีประเด็นหลัก 3 หัวข้อคือ การปรับตัว การบรรเทา และการสร้างสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง
5. คุณสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น
ในฐานะผู้บริโภค เราสามารถปรับการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาระดับโลกได้โดยการลดการปล่อยก๊าซมลพิษ และสร้างความยั่งยืน เช่น
- ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ภายในบ้าน
- ประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าในที่ทำงานและลดการใช้กระดาษ
- เดินทางแบบยั่งยืน เช่น เดินทางโดยใชระบบขนส่งสาธารณะถ้าเป็นไปได้ หรือลดการเดินทางทางอากาศ
- รับประทานเนื้อสัตว์น้อยลงและรับประทานอาหารเท่าที่สามารถรับประทานได้เพื่อลดประมาณเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานไม่หมด
- สร้างความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับคนรอบข้าง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Climate Connection ของบริติช เคานซิล และช่วยให้คนทั่วโลกได้รับทราบถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศ ผ่านแง่มุมศิลปะและวัฒนธรรม การศึกษาและภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปสู่แนวความคิด นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง