ร่วมสนทนากับนักวิชาการไทยในหัวข้อ: มหาวิทยาลัยไทยปรับตัวอย่างไรในช่วงสถานณการณ์โควิด-19?
ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก การปิดประเทศและการสร้างระยะห่างทางสังคมกำลังกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยบางแห่งจะไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติได้ นักเรียนและอาจารย์ไม่สามารถเข้าไปในบริเวณพื้นที่ของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทยแต่ยังกระทบกับมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก
มหาวิทยาลัยทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักรได้สร้างความร่วมมือในด้านต่างๆระหว่างกันมาอย่างยาวนาน รวมถึงความร่วมมือด้านการวิจัย อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่การมีปฎิสัมพันธ์แบบพบปะกัน (face-to-face interaction) ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ มหาวิทยาลัยไทยจึงต้องปรับตัวและปรับรูปแบบการทำงาน ถึงแม้ว่าการต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแบบนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มหาวิทยาลัยเองก็กำลังพยายามอย่างมากที่จะเปลี่ยนความท้ายทายที่กำลังเผชิญอยู่ในครั้งนี้ให้กลับกลายเป็นโอกาส
บริติช เคานซิล ได้พูดคุยกับผู้นำโครงการความร่วมมือไทย-สหราชอาณาจักร ภายใต้โครงการสนับสนุนความร่วมมือระดับอุดมศึกษา (Higher Education Partnerships Programme) ถึงผลกระทบจากสถานณการณ์โควิด-19 ต่อความร่วมมือของมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร และผลกระทบต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย รวมถึงสิ่งที่จะกลายมาเป็น 'วิถีชีวิตใหม่' หรือ 'New normal' ในอนาคตอันใกล้นี้
"การศึกษาทางไกลสำหรับ ‘ทุกคน’ จะกลายเป็นความนิยมใหม่ที่เกิดขึ้น COVID-19 ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดังกล่าวและปรับตัวอย่างทันท่วงที มหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเหล่านี้ได้ก่อนจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้เร็วกว่าคนอื่น"
ผศ. ดร. กาญจนา เลิศมีมงคลชัย - มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คำถาม: มีวิธีการในการรักษาความร่วมมือในช่วงโควิด-19 อย่างไรเห็นได้ชัดว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย อาจารย์เชิดชัย (มหาวิทยาลัยนครพนม): โควิด-19 ทำให้เกิดความชะงักงันในการลงนามความร่วมมือใหม่ระหว่างกัน แต่ทางมหาวิทยาลัยเองก็ยังคงสานต่อความร่วมมือเดิมที่มีอยู่แล้วต่อไป โดยมหาวิทยาลัยได้ประสานและรักษาความร่วมมือที่มีกับ National Institution of Agricultural Botany (NIAB) โดยการสื่อสารกันอย่างต่อเนื่องผ่านระบบการสื่อสารเสมือนจริงและออนไลน์ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าขณะนี้ยังไม่ใช่ขาลงของการสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร อาจารย์กาญจนา (มหาวิทยาลัยขอนแก่น): มหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งให้มีการติดต่อสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือกัน (London School of Hygiene และ Tropical Medicine and King’s College London) ในขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยต้องการที่จะพัฒนาข้อเสนอโครงการและบทความวิจัย เพื่อขอทุนวิจัยและขยายงานวิจัยไปในระดับนโยบายที่สูงขึ้นต่อไป โดยโควิด-19 ไม่อาจทำลายความร่วมมือของเราที่มีกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรลงได้ อาจารย์สุชิตา (มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์): ในขณะนี้ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเลื่อนการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือกับ Coventry University และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนความร่วมมือระดับอุดมศึกษา เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเดินทางไปต่างประเทศ อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังมุ่งมั่นดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนต่อไป โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยได้เข้าสู่การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ |
คำถาม: อาจารย์ได้เปลี่ยนแนวทางการทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 อย่างไรบ้างเนื่องด้วยความร่วมมือต่างๆถูกจำกัดมากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยได้เพิ่มบทบาทอย่างแข็งขันในการปรับไปสู่หลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์รวมไปถึงการจัดการชั้นเรียนและห้องปฏิบัติการ อาจารย์สุชิตา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีการเตรียมการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่วิชาการและฝ่ายสนับสนุนล้วนได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรามีการฝึกอบรมเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ คณะกรรมการการเรียนการสอนได้ปรับปรุงแนวทางใหม่ในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งเราพยายามทำสิ่งเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะมีความราบรื่น อาจารย์ธนาภัทร (จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย): อาจารย์ทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการขนาดกลางร่วมกับนิสิตและนักวิจัยปริญญาเอกท่านอื่นๆ ประมาณ 10 กว่าคนและเรากำหนดให้มีการประชุมทีมห้องปฏิบัติการผ่าน Microsoft Teams เนื่องจากงานในห้องปฏิบัติการทั้งหมดถูกระงับและนิสิตจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ห้องปฏิบัติการในอาคาร นอกจากมีข้อยกเว้นที่พิเศษจริงๆ ส่วนการดูแลรักษาห้องปฏิบัติการดูแลโดยเจ้าหน้าที่ในคณะซึ่งจะพยายามเข้าไปให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น อย่างเช่นจะเข้าไปเติมไนโตรเจนเหลวที่จำเป็นต้องเข้าไปเติมอยู่เสมอเพื่อคงสภาพเซลล์ที่ใช้ในการทดลองอยู่เท่านั้น โดยส่วนตัวแล้วอาจารย์คิดว่างานทางด้านวิชาการที่เป็นงานในห้องปฏิบัติการจะได้รับผลกระทบหนักเนื่องจากโควิด-19 และคาดว่าจะมีผลไปจนกว่าการระบาดจะหยุด นอกจากผลกระทบอย่างมากที่ได้รับในส่วนงานห้องปฏิบัติการที่เราจำเป็นต้องเข้ามาใช้แล้ว การระบาดก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลระยะยาวต่อการเรียนการสอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนแบบภาคปฏิบัติในห้องแล็บ ที่ต้องการการลงมือปฏิบัติจริง ในต่างประเทศมีชุดทดลองแบบง่ายกลับบ้านเพื่อให้ทุกคนยังสามารถทำงานในส่วนของงานห้องปฏิบัติการได้บ้าง เราไม่เคยมีประสบการณ์จากปิดประเทศกันมาก่อน ทางมหาวิทยาลัยไทยก็จำเป็นจะต้องปรับตัวและเรียนรู้จากประสบการณ์เช่นเดียวกัน อาจารย์เชิดชัย: การสอนของเรายังคงดำเนินไปอย่างเต็มที่ในขณะที่เราได้รับผลกระทบในส่วนของงานวิจัยและการนำเสนอวิทยานิพนธ์จากโควิด-19 งานวิจัยทั้งหมดต้องหยุดเป็นการชั่วคราว การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และงานในห้องปฏิบัติการได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการหยุดกิจกรรมต่างๆจากทางรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสุ่มตัวอย่าง การเข้าถึงตัวอย่าง (ยกตัวอย่างเช่น งานเพื่อการวิจัยทางการเกษตร) ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้้ |
คำถาม: บรรทัดฐานหรือโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตมีอะไรบ้างเราไม่เพียงเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการเรียนในชั้นเรียนสู่การเรียนแบบออนไลน์ แต่เราเห็นแนวทางการปฏิบัติและโอกาสใหม่ๆ อาจารย์ธนาภัทร: สถานการณ์โควิด-19 กำลังบังคับให้นักเรียนปรับตัวไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนทางไกล เมื่อใดที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวิธีการพื้นฐานในการสืบค้นความรู้ มันอาจเปลี่ยนความรู้สึกของนักเรียนที่เคยมีเกี่ยวกับการสอนในชั้นเรียน เราทุกคนจะคุ้นเคยกับวิธีการสอนและการเรียนรู้รูปแบบใหม่โดยไม่ต้องสื่อสารแบบตัวต่อตัวโดยตรง อย่างไรก็ตามในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ที่การทดลองมีความสำคัญ จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก อาจจะมีเพิ่มเติมในเรื่องที่เราสามารถทำการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รวดเร็วมากกว่าเดิมจากการแบ่งปันข้อมูลและวารสารงานวิจัยล่วงหน้า อาจารย์เชิดชัย: ถือเป็นโอกาสในช่วงวิกฤติจากการที่มหาวิทยาลัยมีเวลามากขึ้นที่จะมุ่งเน้นในการกลับไปพัฒนาตัวมหาวิทยาลัยเอง ในขณะนี้เรากำลังร่างข้อเสนองานวิจัยใหม่ๆและทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดผ่านอีเมล์และช่องทางออนไลน์ต่างๆเพื่อหาแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาเอกสารงานวิจัย อาจารย์กาญจนา: มหาวิทยาลัยในไทยต่างๆซึ่งรวมไปถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็ได้เข้ามาช่วยสังคมต่อสู้และตอบสนองต่อโควิด-19 กลุ่มของเราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และโรงพยาบาลในความร่วมมือเพื่อทำการทดสอบตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่เรียกว่า Drive Thru นอกจากนี้มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการทดสอบการเฝ้าระวังเชิงรุกสำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่ทำงานร่วมกับสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติญี่ปุ่นและสาธารณสุขจังหวัดลำพูน นอกจากนี้เรายังสามารถเห็นถึงจำนวนงานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน |
คำถาม: การศึกษาระดับอุดมศึกษาจะเปลี่ยนไปหลังจากโควิด-19 อย่างไรบ้างกล่าวกันว่าชั้นเรียนจะมีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิมมาก อาจารย์ธนาภัทร: การเรียนรู้แบบออนไลน์อาจเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษาในอนาคต มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องวางโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมและผู้สอนจะต้องเรียนรู้วิธีการสอนและประเมินนักเรียนโดยปราศจากการสอนแบบเผชิญหน้ากันตัวต่อตัว อาจารย์เชิดชัย: เราจะเห็นถึงการพัฒนาการศึกษาคุณภาพสูงที่เกิดขึ้นจากการกระจายอำนาจการศึกษา นักเรียนจะสามารถเลือกเเหล่งศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือท้องถิ่นแทนการเลือกเรียนในสถานศึกษาในเมืองใหญ่ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงและอาจได้รับผลกระทบในระดับที่สูงกว่า (ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงจากการระบาดของโรค) มหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่างจังหวัดจะตอบสนองโดยการปรับปรุงมาตรฐานของหลักสูตรและคุณภาพการสอน อย่างไรก็ตามยังมีช่องว่างบางส่วนในแง่มุมของการบูรณาการการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยที่ยังต้องได้รับการแก้ไข อาจารย์กาญจนา: การศึกษาทางไกลสำหรับ ‘ทุกคน’ จะกลายเป็นความนิยมใหม่ที่เกิดขึ้น COVID-19 ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดังกล่าวและปรับตัวอย่างทันท่วงที มหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเหล่านี้ได้ก่อนจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้เร็วกว่าคนอื่น นักเรียนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ และการเรียนการสอนแบบออนไลน์จะกลายเป็นตัวเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาความกังวลเหล่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความต้องการการศึกษาที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้าน ‘อายุ’ รวมไปถึงการเกิดทักษะใหม่ๆที่เป็นที่ต้องการเพื่อการพัฒนาตนเองและเราจะเข้าสู่ยุคของการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาจารย์ สุชิตา: ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นั้นแพร่หลายและเกิดขึ้นรวดเร็วเกินกว่าที่จะสามารถวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ ณ ขณะนี้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19 จะสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยกำลังตอบสนองอย่างไรบ้าง เราได้เห็นวิธีการทำงานใหม่ๆ และเราเริ่มเห็นคลื่นของการเปลี่ยนแปลงที่มาเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยได้รับบทเรียนและได้เรียนรู้จากวิกฤติในครั้งนี้ และในขณะเดียวกันก็มีโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับสถานการณ์ ดังที่ ศ.ดร. สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าวไว้ว่า “เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าสิ่งที่ยังต้องการการปรับปรุงคงไม่มีอะไรจำเป็นเท่าเทคโนโลยีและทักษะใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่และนักศึกษา แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันควรมองเป็นโอกาสใหม่ของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตไปสู่โลกแห่งยุคดิจิตอล” |
เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษา
บริติชเคานซิลร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาโครงการความร่วมมือการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทย - สหราชอาณาจักร (Thai-UK Higher Education Partnerships Project หรือ HEP) เพื่อขยายและสนับสนุนเครือข่าย 22 ความร่วมมือจากโครงการ Transnational Education (TNE) ที่มีอยู่ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาโครงการ TNE ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558-2561 โครงการนี้ริเริ่มจากผู้ร่วมโครงการ Newton Fund Institutional Links เพื่อพัฒนาความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรมในด้านวิชาการและอุตสาหกรรม
โครงการความร่วมมือดังกล่าวนำสถาบันทั้งไทยและสหราชอาณาจักรมาร่วมกันและอำนวยความสะดวกต่างๆในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งรวมไปถึงนักวิจัย นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจการระหว่างประเทศเกี่ยวกับกระบวนการสากล สิ่งนี้จะเป็นการปูทางในการอำนวยสภาพแวดล้อมที่ให้การสนับสนุนสถาบันไทยและสหราชอาณาจักรในการสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน โครงการนี้จะสร้างช่องทางสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรและการสร้างเครือข่ายผ่านเวทีเสวนาที่มองไปถึงปัญหาที่สถาบันระดับอุดมศึกษาต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
เหล่าคณาจารย์ร่วมพูดคุย
ขอขอบคุณอาจารย์หัวหน้าโครงการฝ่ายไทยภายใต้โปรแกรมสนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา
- ผศ. ดร. กาญจนา เลิศมีมงคลชัย อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำงานร่วมกับ London School of Hygiene and Tropical Medicine (LSHTM) ด้านการพัฒนาการวินิจฉัยและวัคซีนใหม่ ๆ เพื่อต่อต้านโรคเมลิออยด์ วัณโรคและการติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียอื่น ๆ
- ผศ. ดร. เชิดชัย โพธิ์ศรี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ทำงานร่วมกับสถาบันพฤกษศาสตร์การเกษตรแห่งชาติ (National Institution of Agricultural Botany, NIAB) ในการพัฒนาโครงการวิจัยและความร่วมมือในการจัดการไรโซสเฟียร์ ไมโครไบโอม เพื่อการผลิตพืชผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง
- ศ.ดร.ธนาภัทร ปาลกะ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานร่วมกับ London School of Hygiene and Tropical Medicine (LSHTM) ด้านการพัฒนาการวินิจฉัยและวัคซีนใหม่ ๆ เพื่อต่อต้านโรคเมลิออยด์ วัณโรคและการติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียอื่น ๆ
- อาจารย์ สุชิตา มานะจิตต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำงานร่วมกับ Coventry University เกี่ยวกับการวางรากฐานการเรียนรู้แบบผสมผสานในหลักสูตรการท่องเที่ยว การบริการและการจัดการสุขภาพระดับโลก