ร่วมสนทนากับตัวแทนภาคอุตสาหกรรมของไทยในประเด็น “สถาบันอุดมศึกษาควรเตรียมคนเพื่อเข้าสู่การเป็นแรงงานในอนาคตได้อย่างไร” 

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบไวกว่าภาคส่วนอื่นๆ ภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของอุดมศึกษา เนื่องจากมีการทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเพื่อรับมือกับวิกฤติในปัจจุบันและอนาคต ทั้งด้านสุขภาพ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม การร่วมมือระหว่างนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่างๆจากมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมนำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

บริติช เคานซิล ได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีส่วนร่วมในโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม (The University-Industry Links) ระยะ 2 ปี โดยมุ่งไปที่การทำความเข้าใจข้อมูลเชิงลึกถึงผลกระทบของสถานการณ์โรคระบาดต่อการปรับตัวของภาคอุดมศึกษาในประเทศไทย ในมุมมองของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้กำหนดอุปสงค์ของตลาดการศึกษา

"บัณฑิตส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติในสภาพแวดล้อมจริงทางธุรกิจ การสร้างประสบการณ์ในโลกการทำงานจริง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนของอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อช่วยกระตุ้นกระบวนการการคิดเชิงวิพากษ์ระหว่างการทำงานถือเป็นรูปแบบที่ทรงพลังมาก" 

ดร.ดุษฎี อาชาไกรสร - บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

คำถาม: โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อธุรกิจของคุณ และภาคธุรกิจมีการปรับตัวอย่างไร

นพ. พิฑูรย์ (บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป): ภาคอุตสาหกรรมแต่ละส่วนต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีความรุนแรงแตกต่างกันไป ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เราต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยพยายามผนวกเอาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เข้ากับการจัดการธุรกิจและกลยุทธ์การตลาด เช่น การสั่งอาหารออนไลน์ นอกจากนี้ เราก็พยายามที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เร็วขึ้นเพื่อตอบรับกระแสความนิยมด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน  

ดร.ดุษฎี (บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป): การสั่งอาหารออนไลน์ทวีความสำคัญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับภาคอุตสาหกรรม โมเดลการร่วมมือแบบใหม่ๆที่ช่วยปรับปรุงศักยภาพทางด้านการขนส่งและระบบควบคุมคุณภาพก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งช่วงระหว่างวิกฤติและหลังภายหลังจากวิกฤติ  

คำถาม: โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อนโยบายการสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาบุคลากรของภาคธุรกิจ

ดร.ดุษฎี: ตอนนี้อาคารห้องแล็บต่างๆถูกปิดหมด ทุนสนับสนุนด้านการวิจัยถูกเลื่อนออกไป แต่ในกรณีนี้ เราแค่ต้องวางแผนการใช้งบประมาณใหม่ เนื่องจากทุนสนับสนุนหลักเป็นทุนภายในของบริษัท โดยทุนที่ลงในโปรเจ็คต่างๆจะถูกเลื่อนไปจนถึงปีหน้า นอกเหนือจากความพยายามในระยะสั้นเพื่อประคับประคองการดำเนินการของธุรกิจแล้ว เราเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาจะทวีความสำคัญอย่างมากในระยะยาว  

นพ. พิฑูรย์: โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบระยะยาวต่อทุนสนับสนุนการวิจัยของเราเนื่องจากบริษัทได้จัดสรรเเหล่งเงินทุนสำรองไว้ แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอาจจะถูกปรับลดและจัดสรรเพื่อใช้ในการดำเนินการให้ธุรกิจยังดำเนินงานต่อได้เป็นหลัก 

คำถาม: มุมมองของผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างหลังการระบาดของโควิด-19 คิดว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง

ดร.ดุษฎี: โควิด-19 เปลี่ยนแปลงมุมมอง พฤติกรรม อารมณ์ และความกังวลของกลุ่มลูกค้า และเปิดทางให้กับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ นักวิจัยควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เหล่านี้ รวมถึงนัยสำคัญที่มีต่อความต้องการและการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัย ภายใต้ความท้าทายและความไม่แน่นอนทางสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ความต้องการของผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะปรับไปสู่การบริโภคสินค้าพื้นฐานมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย 

นพ. พิฑูรย์: ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่นอาหารทางการแพทย์และอาหารเพื่อสุขภาพ นับเป็นบุคลากรที่ทวีความสำคัญจากการระบาดของโรค รวมถึงการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพ ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ นักวิจัยถูกคาดหวังให้สามารถทำวิจัยในระยะเวลาที่สั้นขึ้นและขยายงานวิจัยเข้าสู่ท้องตลาดได้เร็วขึ้นและสามารถสร้างมูลค่าได้เป็นจำนวนมาก

คำถาม: ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวกำหนดอุปสงค์และคุณลักษณะของการผลิตกำลังคน ทักษะอะไรที่มหาวิทยาลัยควรจะส่งเสริมให้นักศึกษาและนักวิจัยรุ่นใหม่พัฒนา 

นพ. พิฑูรย์: ธุรกิจมักจะเป็นด่านหน้าที่เผชิญวิกฤติต่างๆ รวมไปถึงการระบาดในครั้งนี้ การคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆเช่นนี้กระทบเราอย่างรวดเร็วมาก เมื่อมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตและนักวิจัยรุ่นใหม่มาทำงานในโลกธุรกิจ การคำนึงถึงความเร่งด่วนและแนวคิดทางธุรกิจและการเงิน เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับความคุ้มทุนและความต้องการของผู้ใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในแง่ของคุณลักษณะ ธุรกิจหลายๆเเห่งกำลังมองหากำลังคนที่มีความซื่อตรง มีความเป็นผู้นำและมีวิสัยทัศน์ 

ดร.ดุษฎี: สำหรับคนรุ่นใหม่ การมีทักษะพื้นฐานรวมถึงความรู้ทางวิชาการนับเป็นเรื่องสำคัญ สถาบันอุดมศึกษาสามารถส่งเสริมนักศึกษาได้มากขึ้นผ่านการพัฒนากรอบแนวคิดที่เหมาะสม เช่นการคิดอย่างสร้างสรรค์ การทำงานที่ตนเองชอบและมีความหลงใหล และความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรม 

คำถาม: ผลจากจำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยลดลงทุกปี มหาวิทยาลัยควรตอบสนองกับเรื่องนี้อย่างไรเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงการเรียนระดับอุดมศึกษา 

ดร.ดุษฎี: การวิจัยเชิงวิชาการนับเป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม บัณฑิตส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติในสภาพแวดล้อมจริงทางธุรกิจ การสร้างประสบการณ์ในโลกการทำงานจริง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนของอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อช่วยกระตุ้นกระบวนการการคิดเชิงวิพากษ์ระหว่างการทำงานถือเป็นรูปแบบที่ทรงพลังมาก (เพื่อดึงดูดและรักษาจำนวนนักศึกษาในระบบอุดมศึกษา) 

การเรียนในมหาวิทยาลัยมีความสำคัญน้อยลงในสายตาคนรุ่นใหม่ เนื่องจากตอนนี้พวกเขาสามารถเรียนรู้จากแหล่งความรู้อื่นๆได้ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่ในมุมการเรียนการสอน แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ความรู้และทักษะอย่างถูกต้อง 

นพ. พิฑูรย์: มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญไม่ใช่เฉพาะแค่ความต้องการของนักศึกษา แต่ต้องคำนึงถึงความต้องการเรียนรู้ของแรงงานทั้งหมดด้วย ชัดเจนแล้วว่าในปัจจุบันหลักสูตรการเรียนแบบเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป การลงทุนทางด้านการศึกษาทางไกลจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นและเปิดประตูสู่การเข้าถึงการศึกษาที่ตอบโจทย์กระเเสความต้องการการเรียนรู้และความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียน เป็นการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจหน้าใหม่ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิด-19 

 

สิ่งที่สหราชอาณาจักรได้เรียนรู้จากไทย

การนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ – สถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจต่างเห็นพ้องกันว่าการวิจัย การพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมยังคงมีความสำคัญอย่างมากทั้งสำหรับภาคอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม มีการขยายตัวของความต้องการในการนำงานวิจัยมาใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อส่งต่อประโยชน์ที่เกิดจากการวิจัย การพัฒนาและการสร้างนวัตกรรม สู่ตลาดหรือชุมชน 

แนวโน้มการเรียนรู้แบบใหม่และการขยายการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา – สถาบันอุดมศึกษาของไทยในฐานะผู้ให้ความรู้ สามารถทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อหาวิธีปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในรูปแบบเดิมๆไปสู่การให้โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ยกตัวอย่างเช่น การริเริ่มรูปแบบการฝึกงานหรือการจ้างงานภายใต้รูปแบบความร่วมมือแบบใหม่ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกฝนทักษะที่เหมาะสม สถาบันอุดมศึกษาไม่ควรเน้นความสำคัญอยู่เพียงแค่นักศึกษาในทางเดียวแต่ควรขยายความสำคัญไปสู่ประชาชนทั่วไป บทบาทในการให้การศึกษาควรปรับไปสู่การเรียนรู้แบบยืดหยุ่น ปรับตามลักษณะบุคคล และเป็นไปอย่างทั่วถึง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียนทุกคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

 

เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม 

บริติช เคานซิล และเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกันผลักดันโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย-ภาคอุตสาหกรรมขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือและแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์อาหารไทยสู่ตลาดโลก และร่วมพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ชาติและอนาคตของธุรกิจอาหาร ระหว่างมหาวิทยาลัยและธุรกิจอาหารทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร 

มีการจัดอบรมให้แก่นักวิชาการและพันธมิตรทางธุรกิจ ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม ใน 2 หัวข้อ ได้แก่ การคาดการณ์อนาคตด้านอาหาร และพฤติกรรมของผู้บริโภค อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

ผู้ร่วมพูดคุย

ขอขอบคุณหัวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม 

  • ดร. นพ. พิฑูรย์ มณีไพโรจน์ 

รองประธานสถาบันฝึกอบรม, บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร ศูนย์นวัตกรรม Mark One  

เอ็มเค เรสโตรองต์ (เดิมรู้จักในนาม เอ็มเคสุกี้) เป็นหนึ่งในธุรกิจอาหารที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศไทย ให้บริการผู้บริโภคไทยมากว่า 20 ปี ได้ทำการลงทุนจำนวนมากให้กับมหาวิทยาลัย เช่น การก่อตั้งศูนย์วิจัยสำหรับประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส (sensory evaluation lab) และการลงทุนทางด้านอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆสำหรับงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ศูนย์นวัตกรรม Mark One   

  • ดร.ดุษฎี อาชาไกรสร

หัวหน้ากลุ่มประสาทสัมผัส ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 

บริษัท ไทยยูเนี่ยนมีความเชี่ยวชาญและพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารทะเลมาอย่างยาวนาน ศูนย์นวัตกรรม ไทยยูเนี่ยน มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในองค์กรต่างๆทั่วโลกทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนนี้เข้าไปสนับสนุนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำของศูนย์นวัตกรรม เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจได้เข้าถึงกัน ควบคุมต้นทุนให้อยู่ในราคาต่ำผ่านการใช้ทรัพยากรต่างๆร่วมกันและสร้างทรัพย์สินทางปัญญาที่ทรงคุณค่ากับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง